เตือนภัย! ด้วงแรดมะพร้าวในมะพร้าว

 

ลักษณะของด้วงแรดมะพร้าว

“ด้วงแรดมะพร้าว” ตัวหนอนเมื่อฟักออกมาจากไข่ จะมีลำตัวสีขาว ขนาด 2 หัวกะโหลกมีสีน้ำตาลอ่อนกว้างประมาณ 2 – 2.5 มิลลิเมตร มีขาจริง 3 คู่ ด้านข้างลำตัวมีรูหายใจจำนวน 9 คู่ เมื่อหนอนเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 60 ถึง 90 มิลลิเมตร เมื่อวัยตัวเต็มวัยจะกลายเป็นด้วงปีกแข็งสีดำวาว ใต้ท้องสีน้ำตาลแดง มีขนาดกว้าง 20 – 23 มิลลิเมตร ยาว 30 – 52 มิลลิเมตร แยกเพศได้โดยตัวเต็มวัยเพศผู้มีเขาลักษณะคล้ายเขาแรดอยู่บนส่วนหัวยาวโค้ง

ลักษณะของมะพร้าวเมื่อถูกทำลายโดยด้วงแรดมะพร้าว

– ตัวด้วงแรดมะพร้าวจะเข้าทำลายโดยการบินขึ้นไปกัดเจาะโคนทางใบหรือยอดอ่อนของมะพร้าว รวมทั้งเจาะทำลายยอดอ่อนที่ยังไม่คลี่ ทำให้ใบที่เกิดใหม่ไม่สมบูรณ์ มีรอยขาดแหว่งเคล้ายหางปลา หรือรูปพัด

– หากโดนทำลายมาก ๆ จะทำให้ใบมะพร้าวที่เกิดใหม่แคระแกรน รอยแผลที่ถูกด้วงแรดมะพร้าวกัดเป็นเนื้อเยื่ออ่อนทำให้ด้วงงวงมะพร้าวเข้ามาวางไข่ หรือทำให้เกิดยอดเน่า จนทำให้ต้นมะพร้าวตายในที่สุด

– ตัวหนอนจะพบได้ตามพื้นดินในบริเวณที่มีการกองปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก จะกัดกินและทำลายระบบรากของมะพร้าวปลูกใหม่ ทำให้พบอาการยอดเหี่ยวและแห้งเป็นสีน้ำตาล ต้นแคระแกร็นและไม่เจริญเติบโต

วิธีป้องกันด้วงแรดมะพร้าว

– ใช้วิธีเขตกรรม ทำความสะอาดสวนมะพร้าวเพื่อกำจัดแหล่งขยายพันธุ์ของด้วงแรดมะพร้าว ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ได้ผลดีที่สุด ถ้ามีกองปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก กองขยะ กองขี้เลื่อย แกลบ ควรกำจัดออกไปจากบริเวณสวน หรือกองให้เป็นที่ หมั่นตรวจดู หากพบหนอนให้จับมาทำลายหรือเผากองนั้นทิ้ง

– มะพร้าวที่ยืนต้นตายควรโค่นลงมาเผาทำลาย ถ้าต้นยังสดอยู่เผาทำลายไม่ได้ ควรตัดออกเป็นท่อนสั้น ๆ แล้วนำมารวมกันไว้ ปล่อยให้ผุสลายไปเอง เพื่อล่อให้ด้วงแรดมะพร้าวมาวางไข่ แล้วเผาทำลายท่อนมะพร้าวเพื่อกำจัดทั้งไข่ หนอน และดักแด้ของด้วงแรดมะพร้าว ตอมะพร้าวที่เหลือให้ใช้น้ำมันเครื่องใช้แล้วราดให้ทั่วตอเพื่อป้องกันการวางไข่ได้

– ต้นมะพร้าวอายุ 3 – 5 ปี ให้ใช้ลูกเหม็นใส่บริเวณคอมะพร้าวที่โคนทางใบรอบ ๆ ยอดอ่อน ทางละ 2 ลูก ต้นละ 6 – 8 ลูก กลิ่นของลูกเหม็นจะไล่ไม่ให้ด้วงแรดมะพร้าวบินเข้าไปทำลายคอมะพร้าว

แหล่งอ้างอิงข้อมูล : ขอขอบคุณข้อมูลจาก กรมวิชาการเกษตร

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *