เชื้อราในพืช ร้ายแค่ไหน ป้องกันยังไงให้หายขาด? [ที่นี่มีคำตอบ]

เชื้อราในพืช ถือว่าเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคในพืชที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นโรคที่สามารถสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรได้ค่อนข้างมาก เนื่องจากการระบาดมักมาพร้อมกับดิน ลม ฝน น้ำ และวัชพืชอยู่ตลอดทั้งปี

ดังนั้น การป้องกันเชื้อราจึงเป็นเรื่องที่เกษตรกรต้องใส่ใจและหมั่นหาวิธีป้องกันให้พืชปลอดจากโรคอยู่เสมอ แต่จะมีวิธีการไหนบ้างที่สามารถป้องกันโรคร้ายประเภทนี้ได้? ลองดูเทคนิคที่สรุปมาให้ในบทความนี้ได้เลย

เชื้อราในพืชคืออะไร?

ก่อนจะไปเรียนรู้เทคนิคที่ช่วยป้องกันเเละรักษาเชื้อราที่เกิดในพืช เกษตรกรมือใหม่ควรที่จะทำความรู้จักโรคในพืชชนิดนี้ให้ดีเสียก่อนว่า โรคเชื้อราในพืชนี้คืออะไร มีลักษณะอย่างไรบ้าง

สำหรับเชื้อราในพืช เป็นโรคที่พืชเเสดงอาการผิดปกติออกมา โดยบริเวณพืชที่เกิดโรคหรือแสดงอาการของโรค มักจะมีสัญลักษณ์ของเชื้อรา เช่น เส้นใย สปอร์ เกิดขึ้น ซึ่งเชื้อราเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น น้ำ ลม แมลง สัตว์ เครื่องมือการเกษตร มนุษย์ และสามารถติดไปกับเมล็ดพันธุ์ หรืออาศัยอยู่กับวัชพืชในแปลงก็ได้เช่นกัน

ซึ่งโรคราในพืชนี้เกิดขึ้นได้ในทุกส่วนของพืชไม่ว่าจะเป็น ใบ ราก โคน ผล เมล็ด ล้วนติดเชื้อราได้ทั้งนั้น จึงถือได้ว่าเป็นโรคที่พบเจอในพืชได้บ่อยมากที่สุด แถมในบางโรคยังทำการฟักตัวอยู่ในส่วนของพืชและดินเป็นเวลานานนับปี โรคนี้จึงสร้างผลกระทบและความเสียหายให้กับเกษตรกรได้ในวงกว้าง เพราะฉะนั้น จึงควรรีบจัดการกำจัดและหาทางป้องกันไว้ก่อนสายจะดีกว่า

วิธีการป้องกันเชื้อราในพืช

โรคเชื้อราในพืชมีมากมายหลายประเภทขึ้นอยู่กับกลุ่มเชื้อราที่ทำให้ติดโรค ดังนั้นจึงควรใช้วิธีการป้องกันและรักษาเชื้อราในพืชให้ถูกกับลักษณะของเชื้อราที่พบ ซึ่งในที่นี้ได้รวบรวมวิธีการป้องกันและดูแลพืชผักให้ปลอดเชื้อราในแต่ละประเภทได้ง่ายๆ ถึง 3 วิธีด้วยกัน คือ…

1. ใช้สมุนไพรกำจัดเชื้อราในพืช

การใช้สมุนไพรถือเป็นวิถีตามภูมิปัญญาชาวบ้านที่ละเลยไปไม่ได้ เพราะการใช้สมุนไพรในการรักษาเชื้อราในพืชถือเป็นวิธีที่ง่ายและปลอดภัย ไร้สารเคมี รวมถึงไม่ทำอันตรายทั้งฝั่งผู้ใช้และผู้บริโภคอีกด้วย

ส่วนสมุนไพรที่มีฤทธิ์ช่วยในการกำจัดเชื้อราในพืช จะเป็นสมุนไพรที่มีรสฝาด เช่น ขมิ้นชัน มะยม ใบชา การแฟ ข้าวโพด ถั่ว เปลือกเงาะ เปลือกมังคุด เปลือกและเมล็ดองุ่น เปลือกทับทิม ดอกและเปลือกแค ฝรั่ง มะกอกไทย หัวปลี หยวกกล้วย กล้วยน้ำว้า ลูกฉิ่ง ผักเม็กและผักกระโดน มะตูม มะขามป้อม ลูกหว้า เป็นต้น โดยเกษตรกรมักจะนำมาทำเป็นส่วนผสมในการทำน้ำหมักสมุนไพรหรือนำมาทำเป็นสารสกัดเพื่อรักษาเชื้อราเฉพาะโรค

ยกตัวอย่างเช่น การใช้เปลือกมังคุดในการรักษาและป้องกันเชื้อราในพืช ที่สามารถนำมาทำเป็นสารสกัด เพื่อกำจัดเชื้อราที่มากับน้ำฝน โดยเฉพาะโรคราน้ำค้างในพืชตระกูลเถาต่าง ๆ โรคราสนิม, ใบด่าง, รากเน่า ,โคนเน่า, แก้แคงเกอร์พริกกุ้งแห้ง เป็นต้น 

วิธีการทำสารสกัดจากเปลือกมังคุด

ให้นำเปลือกมังคุดแห้ง ทุบเป็นชิ้นเล็ก ๆ ประมาณ 1 ขีด หมักกับแอลกอฮอล์ล้างแผล 1 ขวด (450 ซีซี) ให้หมักทิ้งไว้นาน 7 วัน หลังจากนั้นกรองเอาแต่น้ำมาใช้ฉีดพ่นป้องกันกำจัดเชื้อราโรคพืช ในอัตราการใช้ 2 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร

2. การใช้ด่างทับทิมกำจัดเชื้อราในพืช

นอกจากจะสามารถใช้ล้างผักและผลไม้ในครัวเรือนได้แล้ว ‘ด่างทับทิม’ ยังเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ในการกำจัดเชื้อราบางชนิดในพืช อย่างโรคแคงเกอร์หรือโรคขี้กลาก ในส้ม พริก มะนาว กล้วยไม้ และไม้ดอก ไม้ผลต่างๆ ได้ 

ซึ่งการใช้ด่างทับทิมมีข้อดีคือ มีราคาประหยัด แถมยังช่วยเกษตรกรลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็งโดยใช้สารเคมีได้อย่างแน่นอน แต่ต้องขอบอกไว้ก่อนว่า การใช้ด่างทับทิมเองก็มีข้อเสียอยู่เหมือนกันคือ หากใช้ไปนานๆ จะทำให้จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ตายไปด้วย ดังนั้น จึงไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน และควรเปลี่ยนไปใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น ไตรโคเดอร์มา เพื่อรักษาจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์สำหรับพืชเอาไว้แทน

แจกสูตรการทำด่างทับทิมเพื่อป้องกันโรคเชื้อราจากพืช

ใช้ด่างทับทิม 50 กรัม ผสมน้ำ 1 ลิตรเพื่อทำหัวเชื้อ และนำหัวเชื้อที่ได้มากผสมน้ำ ในอัตราส่วนหัวเชื้อ 20 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร หลังจากนั้นให้ทำไปฉีดพ่นที่พืชแบบกำหนดเฉพาะจุด เพื่อหลีกเลี่ยงความชื้นในใบและกิ่งซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เชื้อราเติบโตได้

3. การใช้จุลินทรีย์กำจัดเชื้อราในพืช

แต่สำหรับใครที่ต้องการความสะดวกสบายในการดูแลพืชผัก โดยเน้นไปที่ประสิทธิภาพการรักษาและป้องกันแบบ 100% ทางเลือกใช้การใช้จุลินทรีย์ ซึ่งเป็นสารชีวภาพเพื่อกำจัดเชื้อราดูจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่คุ้มค่า 

เพราะการใช้จุลินทรีย์เป็นการจัดการโรคพืชด้วยการควบคุมแบบธรรมชาติ หรือเลียนแบบธรรมชาติที่ไม่อันตรายต่อผู้ใช้งาน และสามารถใช้กำจัดโรคในพืชได้หลายโรค เช่น เชื้อไฟทอฟเทอร่า (Phytopthora spp.) สาเหตุโรคราที่ทําให้ผลร่วง, เชื้อราอัลเทอนาเรีย (Alternaria spp.) สาเหตุโรคใบจุดเน่าในพืชตระกูลกะหล่ำ, เชื้อราไรซอกโทเนีย (Rhizoctonia spp.) สาเหตุของโรคเน่าคอดิน กล้า ยุบ กล้าเน่า ทําให้ทุเรียนเป็นโรคใบติด เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีเชื้อจุลินทรีย์หรือเชื้อราหลายชนิดถูกนํามาผลิตจําหน่ายสําหรับเกษตร โดยชนิดที่ได้รับความนิยมอย่างมากเลยก็คือ เชื้อราไตรโคเดอร์มา ที่สามารถใช้ควบคุมเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคพืชได้ทุกชนิด

สรุป 

เชื้อราในพืช ถือเป็นหนึ่งโรคที่เกิดขึ้นง่ายและทำให้เกษตรกรรู้สึกปวดหัวอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะการปลูกกลางแจ้งซึ่งมักจะต้องเผชิญกับโรค สิ่งเเวดล้อมที่แปรปรวน และแมลงหลบพักอยู่ทั่วไปแบบที่ไม่สามารถควบคุมได้  แต่จะทำอย่างไรให้เสียหายน้อยและสามารถป้องกันพืชให้มีผลผลิตที่สมบูรณ์ได้มากที่สุด?

ขอขอบคุณ : svgroup.co.th

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *