4 วิธีปลูกผักสวนครัวในพื้นที่น้อยสไตล์คนเมือง ปลูกทานเองได้ ปลอดภัย 100%

สำหรับคนยุคใหม่ที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ และบ้านมีอาณาบริเวณไม่ได้กว้างขวางนัก อาจเห็นว่า การปลูกผักสวนครัวในพื้นที่น้อยๆ ที่มีอยู่เป็นเรื่องยาก ทั้งด้านการดูแลและเริ่มต้นลงมือทำ แต่รู้กันหรือเปล่าว่า จริงๆ แล้วมีเทคนิคการปลูกผักสวนครัวบนพื้นที่น้อย ที่ทำได้ง่าย เร็ว และเหมาะกับขนาดพื้นที่เล็กๆ อย่างคอนโดหรือบ้านในเมืองด้วยเหมือนกัน

วันนี้เราจึงอยากชวนให้ทุกคนมาลองจัดสรรปันส่วนพื้นที่เล็กๆ ที่ทุกคนมี ให้กลายเป็นแปลงผักขนาดย่อมที่สามารถลงมือปลูกผักในแบบฉบับคนเมืองที่ทั้งปลอดภัย แถมยังไม่ใช้สารเคมี กับ 4 วิธีการปลูกผักสวนครัวแบบง่ายๆ มือใหม่ก็หัดทำตามได้  ลองมาดูกันดีกว่าว่า จะมีวิธีไหนที่เหมาะกับพื้นที่บ้านในเมืองบ้าง ตามไปดูพร้อมๆ กันเลย 

ปลูกผักสวนครัวในกระถาง

สำหรับใครที่ไม่เคยทดลองปลูกผักสวนครัวเลย แนะนำให้ลองเลือกวิธีการปลูกผักสวนครัวในกระถางกันดู เพราะนอกจากจะทำได้ง่าย เหมาะสำหรับมือใหม่แล้ว การปลูกผักสวนครัวในกระถางยังใช้พื้นที่ภายในบ้านแค่เล็กน้อยเท่านั้น

ปลูกไว้ในพื้นที่แบบไหนได้บ้าง

เพราะเป็นวิธีการที่ทั้งง่ายและสะดวก จึงเหมาะสำหรับคนที่อยากปลูกผักสวนครัวแต่มีพื้นที่จำกัด อยากจะเลือกปลูกส่วนไหน บริเวณไหนของบ้านก็ได้ หรือสำหรับบางคนอาจจะมีพื้นที่เหลืออยู่บ้าง แต่สภาพดินไม่เหมาะสมการปลูกผักสวนครัวในกระถางก็จะช่วยทำให้เลือกซื้อดินและปุ๋ยที่เหมาะสมกับผักแต่ละชนิดมาปลูกเองได้ตามต้องการ

เทคนิคและข้อแนะนำ

สำหรับคนที่สนใจปลูกผักสวนครัวไว้ในกระถาง จะต้องคำนึงถึง 3 เรื่องหลักๆ ที่จะส่งผลให้ผักสวนครัวที่ปลูกผลิดอกออกใบ ไม่เหี่ยว เหลือง หรือแคระแกร็นจนไม่สามารถนำมารับประทานได้ ซึ่งเทคนิคที่เราอยากจะฝากไว้มีดังต่อไปนี้

1. รู้จักผักที่สามารถปลูกได้ 

การปลูกผักสวนครัวในกระถาง ไม่ได้ปลูกผักแล้วจะเจริญงอกงามไปเสียทุกชนิด แต่ควรเลือกปลูกเฉพาะผักสวนครัวที่หยั่งรากไม่ลึกมากจนเกินไป เพื่อให้ผักได้รับสารอาหารเท่าที่ต้องการ

นอกจากนี้ควรดูด้วยว่า บริเวณที่เตรียมไว้มีแสงแดดส่องถึงหรือไม่ หากไม่ได้มีแดดก็อาจจะเลือกซื้อเฉพาะผักที่ไม่ได้ชอบแดดมากนักมาปลูกแทน ตัวอย่างผักสวนครัวที่เหมาะจะปลูกในกระถาง เช่น ผักชี ต้นหอม คะน้า ผักบุ้งจีน ผักกาดขาว ผักกาดเขียว ผักกาดหอม กะหล่ำปลี สะระแหน่ ขึ้นฉ่าย ตั้งโอ๋ เป็นต้น

2. รู้จักเลือกกระถางที่เหมาะสม

เพื่อการเจริญเติบโตของผักที่ดีควรจะเลือกซื้อกระถางที่มีก้นลึกไม่ต่ำกว่า 30 ซม. เพื่อให้มีพื้นที่ใส่ทั้งดิน, ปุ๋ยหมัก/ปุ๋ยคอก และแกลบดำ รวมถึงสามารถขุดดินให้เป็นรูตรงกลาง แล้วนำกล้าผักที่เพาะไว้แล้วมาใส่ แล้วกลบด้วยดินปลูกได้ ไม่เช่นนั้นผักที่เลือกมาอาจจะไม่ได้สารอาหารและมีพื้นที่เหมาะสมพอที่จะโตต่อไปได้

3. รู้จักวิธีการปลูกที่เหมาะกับผักแต่ละชนิด

เราสามารถนำผักสวนครัวมาปลูกไว้ในกระถางด้วยวิธีการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น…

  • ใช้วิธีการหยอดเมล็ด : เป็นการหยอดเมล็ดลงหลุมที่เตรียมไว้ โดยกะระยะห่างที่เหมาะสมให้ผักพอที่จะเจริญเติบโตได้ ซึ่งผักที่นิยมปลูกโดยใช้เมล็ด ได้แก่ ผักชี, ผักบุ้งจีน, ตั้งโอ๋, ขึ้นฉ่าย เป็นต้น
  • ใช้วิธีปลูกด้วยต้นกล้า : เป็นการเพาะต้นกล้าให้อยู่ในระยะที่แข็งแรงพอจะนำมาเลี้ยงในกระถาง ถ้ารากฝอย ลำต้นสมบูรณ์พอก็ย้ายมาลงกระถางที่เตรียมไว้ได้เลย ผักที่นิยมปลูกวิธีนี้ ได้แก่ ผักคะน้า, ผักกาดขาว, ผักกาดเขียว, ผักกาดหอม, กะหล่ำปลี, ปูเล่, กะเพรา, โหระพา เป็นต้น
  • ใช้วิธีการปักชำ : ผักบางชนิดสามารถนำมาปักชำในกระถางได้เลย แต่อาจจะต้องเลือกความลึกที่เหมาะสม และใช้ไม้พยุงในขณะปักชำไว้ด้วย ผักที่นิยมปลูกวิธีนี้ ได้แก่ สะระแหน่, ชะพลู, หอมแบ่ง, ตะไคร้ เป็นต้น

ปลูกผักสวนครัวแนวตั้ง

การปลูกผักสวนครัวแบบแนวตั้ง เป็นวิธีการปลูกผักสวนครัวแบบง่ายๆ ใช้พื้นที่น้อย ขอแค่มีอุปกรณ์เป็นกระถางประดับผนัง-ระเบียง หรือจะเป็นตะแกรงแบบแขวนก็จัดการปลูกผักสวนครัวแบบออร์แกนิกไว้กินเองได้แล้ว 

ปลูกไว้ในพื้นที่แบบไหนได้บ้าง

ถือเป็นรูปแบบการปลูกพืชสวนครัวที่เหมาะกับคนยุคใหม่มากๆ เพราะสามารถทำได้ทุกพื้นที่ตั้งแต่คอนโด บ้าน ทาวน์เฮาส์ หรือแม้แต่ในอาคารสำนักงานที่ต่อให้มีพื้นที่น้อยแค่ไหนก็ลงมือทำได้ แถมยังเคลื่อนย้ายสะดวกด้วย

เทคนิคและข้อแนะนำ

การปลูกพืชสวนครัวแบบแนวตั้ง อาจจะเหมาะสำหรับคนมีพื้นที่น้อย แต่ไม่เหมาะสำหรับคนที่มีเวลาดูแล เพราะมีรายละเอียดยิบย่อยพอสมควรที่ต้องรู้และต้องใช้ความเอาใจใส่ค่อนข้างมาก ซึ่งในที่นี้ได้รวบรวมคำแนะนำมาให้ 2 เรื่องด้วยกัน คือ…

1. เลือกผักที่มีอายุสั้น

เพราะการทำแปลงผักสวนครัวแนวตั้ง เป็นวิธีการปลูกผักที่ใช้ได้กับพืชบางชนิดเท่านั้น จึงควรเลือกชนิดของผักที่ปลูกง่าย อายุสั้น เพื่อให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ไว และไม่ต้องใช้เวลาดูแลนาน เช่น ผักชี, ผักชีฝรั่ง, ต้นหอม, ขึ้นฉ่าย, พริก, โหระพา กะเพรา เป็นต้น  หรือถ้าเลือกปลูกผักทรงพุ่ม เช่น สลัด หรือ วอเตอร์เครส ก็ต้องทำเป็นสวนกระถางแนวตั้งที่ทำให้ผักสามารถเจริญเติบโตได้ดี เพราะถ้าเลือกภาชนะก้นตื้น หรือแคบไป ผักอาจจะโตไม่เต็มที่ แคะแกร็น และส่งผลต่อรสชาติได้ด้วย

2. จัดวางกระถางให้ดี

การปลูกผักสวนครัวแนวตั้ง ควรคำนึงถึงตอนดูแลให้มากเป็นพิเศษ ดังนั้น จึงต้องเอาใจใส่ในรูปแบบการวางกระถางที่ต้องสะดวกในการรดน้ำ ใส่ปุ๋ย จึงไม่ควรวางให้สูงมากจนดูแลยาก และควรคำนึงถึงแสงแดดที่พอดี ไม่โดนเงาของอาคารบัง หรืออยู่ในที่ร่มที่ไม่โดนแดดเลย  นอกจากนี้ควรที่จะเว้นระยะห่างของกระบะบนชั้นให้เหมาะสม (ประมาณ 1 นิ้วต่อ 1 กระถาง) เพื่อให้มีพื้นที่เพียงพอให้ผักเติบโตได้ และง่ายต่อการดูแลด้วย

ปลูกผักสวนครัวแบบผสมผสาน

สำหรับคนที่อยากจะลองปลูกผักสวนครัวหลายๆ ชนิดแต่มีพื้นที่น้อย แนะนำให้ลองปลูกผักสวนครัวแบบผสมผสาน ซึ่งเป็นการปลูกผักหลายชนิดในแปลงเดียวกัน โดยพืชผักแต่ละชนิดที่เลือกมา เราสามารถเลือกปลูกให้ผักเหล่านั้นเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันได้ เช่น กำจัดแมลง ลดการเกิดโรคบางโรค และส่งเสริมการเจริญเติบโตแบบไม่ต้องใช้สารเคมีได้อีกทางหนึ่ง

ปลูกไว้ในพื้นที่แบบไหนได้บ้าง

การปลูกผักสวนครัวแบบผสมผสาน จะเหมาะมากๆ กับคนที่มีพื้นที่บางส่วนให้ลงแปลงเล็กๆ อย่างบ้านจัดสรรหรืออาคารพาณิชย์ เพราะสามารถทำสวนหย่อมสำหรับปลูกผักสวนครัวแบบผสมผสานได้ง่าย และสามารถทดลองปลูกพืชได้หลายชนิดเท่าที่ต้องการ

เทคนิคและข้อแนะนำ

การปลูกผักสวนครัวแบบผสมผสานจะมีลักษณะเหมือนกับการลงแปลงปลูกผักโดยทั่วไป แต่จะมีความแตกต่างกันอยู่ข้อหนึ่งคือ ควรที่จะเลือกปลูกผักที่สามารถปลูกร่วมกันได้ ให้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน และถ้ามีเวลาก็แนะนำให้ลองปลูกผักสวนครัวแบบผสมผสานตามฤดูกาลด้วย ก็จะช่วยให้ได้ผักที่มีคุณภาพดี น่ารับประทานมากขึ้น

ตัวอย่างผักสวนครัวที่ปลูกรวมกันได้ เช่น กะหล่ำปลีหรือผักกาดขาว ปลูกแซมด้วยผักกาดแก้วหรือแครอท ซึ่งกลิ่นจากผักกาดแก้วและแครอทจะป้องกันไม่ให้หนอนผีเสื้อและหนอนใยผักเข้ามาทำลายกะหล่ำปลีหรือผักกาดขาวได้ด้วย เป็นต้น

ปลูกผักสวนครัวแบบไฮโดรโปนิกส์

หากใครเป็นคนที่มีเวลา อยากทดลองการปลูกผักสวนครัวในพื้นที่จำกัดแบบใหม่ๆ แนะนำให้ลองจัดพื้นที่ไว้สำหรับปลูกผักสวนครัวแบบไฮโดรโปนิกส์  เพราะนอกจากจะเป็นสวนเล็กๆ ที่เหมาะสำหรับคนมีพื้นที่ในการทำสวนแบบจำกัดแล้ว ยังเป็นการทำสวนแนวๆ วิทยาศาสตร์ ที่นำพืชมาปลูกในสารละลายธาตุอาหารพืช (Water  culture หรือ Hydroponics) โดยให้รากแช่ในสารละลายธาตุอาหารพืช  และบางส่วนสัมผัสอากาศ โดยไม่ต้องใช้ดินเลยสักนิดเดียว

ปลูกไว้ในพื้นที่แบบไหนได้บ้าง

เพราะเป็นวิธีการปลูกพืชสวนครัวที่ใช้อุปกรณ์ในการดูแลมากกว่าวิธีการปลูกพืชแบบอื่นๆ ก็อาจจะต้องจัดพื้นที่เฉพาะไว้ให้ง่ายต่อการดูแล สังเกตการณ์ และเคลื่อนย้าย ซึ่งก็ควรที่จะเป็นพื้นที่ที่มีแสงแดดส่องถึง ฝนไม่สาด และอากาศไม่ร้อนอบอ้าวจนเกินไป

เทคนิคและข้อแนะนำ

ขั้นตอนและสิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับการปลูกผักสวนครัวแบบไฮโดรโปนิกส์มีรายละเอียดปลีกย่อยค่อนข้างมาก แต่ข้อแนะนำสำคัญสำหรับมือใหม่ที่อยากให้เริ่มต้นศึกษาและดูว่า การปลูกผักสวนครัวด้วยวิธีนี้จะเหมาะกับไลฟ์สไตล์จริงๆ หรือไม่ จะต้องเริ่มศึกษาจากระบบการปลูก ซึ่งจะมีนิยมใช้กันอยู่ประมาณ 2 วิธีด้วยกัน ได้แก่

  • NFT (Nutrient Film Technique) เป็นการปลูกผักโดยให้รากสัมผัสกับละลายธาตุอาหาร บนรางปลูกแบบต่อเนื่อง โดยสารละลายธาตุอาหารจะมีการไหลหมุนเวียนกลับมาใช้อีกครั้ง ซึ่งความยากคือต้องวางรางปลูกจึงต้องมีความลาดเอียง เพื่อให้น้ำที่ไหลผ่านรากมีปริมาณบางเท่าแผ่นฟิล์มเท่านั้น พืชถึงจะเติบโตได้ดี
  • DFT (Deep Flow Technique) เป็นการปลูกพืชโดยให้รากสัมผัสกับสารอาหารในน้ำลึก 3-5 เซนติเมตร ซึ่งวิธีนี้ทำให้ปลูกผักในท่อน้ำ กล่องโฟม ถังน้ำ หรือแม้กระทั่งขวดพลาสติกได้ง่ายๆ 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการควบคุมแสงที่ต้องการแสงอย่างน้อย 3-6 ชั่วโมงต่อวัน  ซึ่งก็จะต้องเตรียมทั้งเรื่องของอุปกรณ์ และสถานที่ให้พร้อมสำหรับการปลูกมากกว่าวิธีการปลูกผักสวนครัวในรูปแบบอื่นๆ แต่ถ้าใครมีเวลาและอยากจะลองควบคุมน้ำ ธาตุอาหาร แสง และอุณหภูมิ เพื่อให้ผักเติบโตได้ดังใจ วิธีนี้ก็เป็นวิธีการปลูกผักที่สนุกอีกวิธีหนึ่งเหมือนกัน

สรุป 

และทั้งหมดนี้คือ วิธีการปลูกพืชสวนครัวที่ใช้พื้นที่น้อย ประหยัด และปลอดภัยจากสารเคมีแบบ 100% แต่สำหรับใครที่อยากให้ผักสวนครัวที่ตัวเองปลูกมีใบสวย พร้อมเก็บเกี่ยวแบบเต็มที่ และไม่มีเเบคทีเรียหรือหนอนมารบกวนใจ การใช้ชีวภัณฑ์จำพวกกำจัดเชื้อรา หรือกำจัดศัตรูพืช ที่ช่วยให้พืชสามารถสร้างภูมิคุ้มกัน และเจริญเติบโตได้ตามปกติแบบปราศจากเคมี ก็ถือว่าเป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้การปลูกผักสวนครัวของคุณสะดวกและง่ายต่อการดูแลมากขึ้นด้วย

ขอขอบคุณ : shop.grotech.co

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *