วิธีปลูกหน่อไม้ฝรั่งกินเองก็ได้ทำขายก็ดี

หน่อไม้ฝรั่งเป็นพืชผักที่ได้รับความสนใจมากในปัจจุบัน เพราะเป็นพืชที่มีแนวโน้มในด้านความต้องการของตลาดสูง ทั้งการส่งออกในรูปหน่อสดและอุตสาหกรรมแปรรูป ดังนั้นเกษตรกรจึงเริ่มหันมาปลูกหน่อไม้ฝรั่งกันมากขึ้นๆ

1. เมล็ดพันธุ์

เมล็ดพันธุ์ที่ดีควรจะมีอัตราความงอกสูง (โดยดูจากฉลากที่ติดมากับกระป๋อง) มีความบริสุทธิ์ตรงตามพันธุ์ที่กำหนดไว้ เมล็ดพันธุ์ที่บรรจุกระป๋องจำหน่ายในปัจจุบันหนัก 1 ปอนด์ (453.6 กรัม)

จะมีเมล็ดประมาณ 13,000-23,000 เมล็ดแล้วแต่พันธุ์ ซึ่งสามารถเพาะเมล็ดแล้วให้ต้นกล้าสำหรับย้ายปลูกได้ 2-4 ไร่ โดยจะใช้พื้นที่เพาะกล้าประมาณ 500-600 ตารางเมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอัตราความงอกของเมล็ดตลอดจนเทคนิคและวิธีการเพาะกล้าของผู้ปลูก

2.การเตรียมแปลงเพาะกล้า

ดินเป็นดินร่วนปนทรายหรือปรับปรุงให้ร่วนซุยโดยการใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่หมักสมบูรณ์แล้ว ควรเป็นที่ที่ปราศจากวัชพืช เช่น แห้วหมู หญ้าแพรก หญ้าปล้อง หรือได้กำจัดวัชพืชจนหมดแล้ว เมื่อเลือกที่ได้แล้วทำการขุดหรือไถดินให้ลึก เก็บวัชพืชออกให้หมดและตากดินไว้ประมาณ 10-15 วัน จากนั้นจึงย่อยดินให้ละเอียดและใส่วัสดุปรับปรุงดิน

3. วัสดุปรับปรุงดิน

– วัสดุปรับปรุงดิน ที่ใช้ต่อพื้นที่เพาะกล้า 1 ตารางเมตร

– ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 2 กิโลกรัม ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ สูตร 15-15-15 30 กรัม (10 ช้อนชา)

– ปูนขาว 10 กรัม (3-4 ช้อนชา)

– สารป้องกันกำจัดโ ร ครา ได้แก่ แคปแทน เช่น ออร์โธไซด์ แคปแทน 50 แคปตาไซด์ 50

– สารป้องกันกำจัดแมลง

– แกลบ ฟาง

– บัวรดน้ำ

– อุปกรณ์การเตรียมแปลง จอบ คราด ไม้ปาดแปลง ไม้ชักร่อง

4.การหยอดเมล็ด

นำเมล็ดมาหยอดลงในร่องที่เตรียมไว้ หยอดเมล็ดเป็นจุด ๆ ละ 1 เมล็ดห่างกันจุดละ 10-15 เซนติเมตร โรยทับด้วยฟูราดานบาง ๆ ในร่อง จากนั้นกลบเมล็ดโดยใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้เขี่ยดินขอบร่องลงกลบในร่องบาง ๆ แล้วใช้ฟางคลุมทับบนแปลงหนาพอประมาณ ละลายยาป้องกันเชื้อรา เช่น แคปแทนหรือแมนโคเช็บอัตรา 2 ช้อนแกงต่อน้ำ 10 ลิตร ใส่บัวรดน้ำราดให้ทั่วแปลง จากนั้นรดน้ำตามให้ชุ่ม

5.การให้น้ำ

ระยะแรกๆ จะต้องรดน้ำให้บ่อยครั้ง อย่าปล่อยทิ้งให้แปลงแห้ง หลังจากหยอดเมล็ดได้ประมาณ 10-15 วัน ต้นกล้าจะเริ่มงอก เปิดฟางออกบ้างให้เหลือฟางเพียงบาง ๆ เพื่อให้ต้นกล้างอกได้สะดวกหน่อไม้ฝรั่งต้องการน้ำอย่างสม่ำเสมอในการเจริญเติบโต วิธีการให้น้ำที่เหมาะสมสำหรับในแปลงเพาะกล้า คือควรให้น้ำแบบพ่นฝอยหรือสปริงเกอร์ แต่วิธีนี้จะใช้เงินลงทุนสูงมาก เกษตรกรจึงนิยมให้น้ำแบบอื่นๆ เช่นปล่อยตามร่อง หรือใช้แบบปั๊มมีสายยางรด ซึ่งลงทุนต่ำกว่า อย่างไรก็ตามหลักการให้น้ำหน่อไม้ฝรั่ง คือต้องให้ต้นกล้าได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอไม่แฉะหรือแห้งจนเกินไป และอย่าให้น้ำฉีดถูกต้นอย่างรุนแรง เพราะจะทำให้ต้นกล้าบอกช้ำทำให้โรคเข้าทำลายได้ง่าย

6. การให้ปุ๋ย

การให้ปุ๋ยในระยะแรก ๆ จะให้ในรูปของปุ๋ยละลายน้ำ โดยใช้ปุ๋ยสูตร 21-0-0 อัตรา 10 กรัม (3-4 ช้อนชา) ต่อน้ำ 20 ลิตร ให้สลับกับปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในอัตราที่เท่ากัน ละลายปุ๋ยใส่บัวรดน้ำราดบนแปลงแล้วรดน้ำตามให้ชุ่มประมาณ 10-15 วันต่อครั้ง ให้ประมาณ 3-4 ครั้ง จากนั้นเริ่มให้ปุ๋ยเม็ด สำหรับปุ๋ยเม็ดให้ใช้สูตร 15-15-15 อัตรา 15-20 กรัม (5-7 ช้อนชา) ต่อพื้นที่ปลูกประมาณ 1 ตารางเมตรใส่ปุ๋ยเม็ดเดือนละครั้ง ประมาณ 2-3 ครั้ง ใส่พร้อมกับปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 200-300 กรัม

ข้อควรระวังในการให้ปุ๋ย หลังจากใส่ปุ๋ยทุกครั้งควรให้น้ำตามอย่างพอเหมาะ เพื่อที่น้ำจะได้ไปละลายปุ๋ยให้เป็นประ โยชน์ต่อหน่อไม้ฝรั่ง การให้ปุ๋ยที่ถูกต้อง ควรใส่แบบฝังปุ๋ยลงในดินใกล้บริเวณรากหน่อไม้ฝรั่ง ไม่ควรใส่ปุ๋ยให้ติดรากหน่อไม้ฝรั่งเพราะอาจจะทำให้ต้นเหี่ยวได้

7.การกำจัดวัชพืช

หลังจากกล้าหน่อไม้ฝรั่งงอกแล้ว ควรมีการกำจัดวัชพืชอย่างสม่ำเสมอ การกำจัดวัชพืชในช่วงเดือนแรกของการเพาะกล้าควรทำอย่างระมัดระวังเพราะกล้าหน่อไม้ฝรั่งยังอ่อนแออยู่ หากกระทบกระเทือนอาจทำให้ต้นกล้าตายได้ การใช้มือถอนจะดีที่สุด การกำจัดวัชพืชบนแปลงกล้าไม่ควรใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช แต่ถ้าเป็นรอบๆ บริเวณแปลงเพาะกล้า หรือบริเวณทางเดินสามารถใช้สารเคมีได้โดยไม่เกิดปัญหาใด ๆ

8.การตัดแต่งต้นกล้าหน่อไม้ฝรั่ง

การตัดแต่งต้นกล้าจะทำให้ต้นโปร่งขึ้น ไม่เป็นที่สะสมของโรคและแมลง และสามารถพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลงได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้การตัดแต่งต้นจะทำให้มีการสะสมอาหารที่เหง้าและตามากขึ้น ทำให้เหง้าและตามีขนาดใหญ่ขึ้น ดังนั้นการตัดแต่งต้นกล้าหน่อไม้ฝรั่งจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งและมักจะทำเมื่อต้นกล้า อายุประมาณ 2.5 – 3 เดือนขึ้นไป

9.การพูนโคนต้นกล้า

ถ้าต้นกล้าหน่อไม้ฝรั่งมีเหง้าลอยพ้นดิน มักมีสาเหตุมาจากการที่หยอดเมล็ดตื้น หรือให้น้ำแบบสายยางฉีดรด หรือให้น้ำตามร่องจนชะดินลงมา ดังนั้นควรมีการตรวจแปลงกล้าอย่างสม่ำเสมอ ถ้าพบว่าต้นกล้าที่แตกขึ้นมาใหม่มีขนาดเล็กและเป็นฝอย รากและเหง้าเล็กลง ทำให้ได้ต้นกล้าที่ไม่สมบูรณ์ จึงควรทำการพรวนดินกลบเหง้า (พูนโคนต้น) ต้นกล้าด้วย

10.การป้องกันกำจัดโรคและแมลงในระยะต้นกล้า

ทำการฉีดสารป้องกันกำจัดโรคและแมลงประมาณเดือนละ 2 ครั้ง ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการระบาดของโรคและแมลงด้วย

11.การทำค้าง

ในพื้นที่ที่มีลมแรงและไม่มีแนวบังลม การทำค้างเพื่อช่วยพยุงลำต้นนับเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ประ โยชน์ของการทำค้างก็เพื่อที่จะรักษาลำต้นเหนือดินให้อยู่ได้นานที่สุด ในช่วงก่อนการเก็บเกี่ยวและในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยปกติจะทำค้างเมื่อต้นหน่อไม้ฝรั่งมีอายุ 2 เดือนหลังจากย้ายกล้าปลูก ไม้ที่ใช้ทำค้างอาจเป็นไม้รวกหรือไม้อื่น ๆ ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-2 นิ้ว ความสูงของค้างแล้วแต่ความเหมาะสม การปักค้างจะปักเป็นจุดๆ ละ 2 หลัก และใช้เชือกไนล่อนขนาดพอเหมาะขึงตามความยาวของแปลงระยะห่างของไม้แต่ละจุดประมาณ 2 เมตร หรือแล้วแต่ความเหมาะสม ซึ่งการทำค้างนี้จะทำไปตลอดอายุของการปลูกหน่อไม้ฝรั่งหากไม้ค้างผุควรทำการเปลี่ยนไม้ค้างอยู่เสมอ

12.การเก็บเกี่ยว

ควรเก็บเกี่ยวหลังจากย้ายปลูกประมาณ 4-5 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้นหน่อไม้ฝรั่งเป็นสำคัญ เมื่อเริ่มเก็บเกี่ยวจะต้องเก็บเกี่ยวทุกวันในช่วงเช้าเวลา 06.00-09.00 น. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำหน่อขาวต้องเก็บในช่วงตอนเช้ามืดเวลา 06.00 น. เพราะถ้าหน่อเจริญพ้นดินที่กลบไว้จะทำให้ส่วนปลายของหน่อมีสีเขียวส่วนโคนมีสีขาว ไม่เป็นที่ต้องการของโรงงานผลิตหน่อไม้ฝรั่งกระป๋อง แต่ปัจจุบันโรงงานบางแห่งยอมรับหน่อไม้ฝรั่งที่ส่วนปลายมีสีเขียวยาวไม่เกิน 2 นิ้ว ซึ่งเรียกว่า พวกกรีนทิป

13.การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว

ภายหลังการเก็บเกี่ยว ต้องนำหน่อไม้ฝรั่งเข้าร่มทันที และการดำเนินการขั้นตอนต่างๆ ควรจะกระทำในที่ร่มทั้งหมด เช่น การนำไปล้างน้ำสะอาดเอาดินและสิ่งสกปรกออกหรือตัดให้ได้ความยาวตามมาตรฐานการรับซื้อ นำหน่อไม้ฝรั่งไปตัดแต่งโคน ให้ได้ความยาวตามที่พ่อค้ารับซื้อต้องการ ปกติจะตัดให้มีความยาว 25 เซนติเมตร คัดเกรดหน่อไม้ฝรั่งออกตามลักษณะที่ต้องการ

ขอขอบคุณ : www.facebook.com/kasetpurepure/

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *