พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส! อดีตผู้รับเหมาก่อสร้าง กลับบ้านเกิดเปลี่ยนผืนนาให้เป็นสวนชมพู่ทับทิมจันทร์รายแรกและรายเดียวของจังหวัดมหาสารคาม

พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส! อดีตผู้รับเหมาก่อสร้าง กลับบ้านเกิดเปลี่ยนผืนนาให้เป็นสวนชมพู่ทับทิมจันทร์รายแรกและรายเดียวของจังหวัดมหาสารคาม

นายธงชัย ชอบแก้วกาง อยู่ที่หมู่ 7 ต.เหล่าบัวบาน อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม เจ้าของสวนชมพู่ทับทิมจันทร์ เล่าว่า ก่อนที่จะเริ่มทำสวนชมพู่ ตนและภรรยาได้เข้าไปทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่เมื่อเกิดวิกฤตฟองสบู่แตก ตนและภรรยาถูกเลิกจ้างกลายเป็นคนตกงานและต้องเดินทางกลับมาบ้านเกิดเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่ระยะแรกไม่รู้จะทำอะไร จนได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงจึงได้ศึกษาเพิ่มเติม

หลังจากนั้นได้ทดลองแบ่งพื้นที่นาที่ได้รับเป็นมรดกจากพ่อ-แม่ จำนวน 6 ไร่และซึ่งขณะนั้นชมพู่ทับทิมจันทร์ถือเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกร จึงได้หาต้นพันธุ์ จากนั้นลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ และได้คำแนะนำจากเกษตรอำเภอที่เข้ามาให้ความรู้และเทคนิคต่างๆ ในการเพิ่มผลผลิตชมพู่ จนกระทั่งปี 2548 จึงสามารถเก็บชมพู่ทับทิมจันทร์ออกขายได้เป็นปีแรก

สำหรับวิธีการปลูกชมพู่เริ่มจากการเตรียมแปลง หากเป็นที่ลุ่มต้องขุดยกร่องทำเป็นคู จากนั้นขุดหลุมกว้าง 30 เซนติเมตร ลึก 30 เซนติเมตร ปลูกระยะห่างแต่ละต้นประมาณ 3 เมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก และรดน้ำต้นชมพู่ในช่วงเช้าของทุกวัน เมื่อปลูกแล้วประมาณ 12 เดือน ในช่วงฤดูหนาวชมพู่จะเริ่มออกดอกติดผล ช่วงนี้ต้องบำรุงด้วยการใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 พอดอกโรยก็เริ่มห่อผลด้วยถุงพลาสติกเจาะรูเพื่อระบายอากาศ

หลังจากนั้น 45 วันก็สามารถเก็บผลขายได้ ในแต่ละรอบปีสามารถเก็บผลผลิตชมพู่ได้ 3 รอบ รอบที่เก็บผลผลิตได้ดีอยู่ในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ และแต่ละครั้งจะเก็บผลรวมน้ำหนักแล้วมากกว่า 4,000 กิโลกรัม แต่ปีนี้สภาพอากาศเอื้ออำนวย ปริมาณน้ำไม่ขาด น่าจะเก็บเพิ่มได้ถึง 4 รอบ ผลผลิตรวมกันคาดว่าจะถึง 20 ตัน

ผลผลิตชมพู่ทับทิมจันทร์ของที่นี่ได้รับการกล่าวขวัญจากผู้ซื้อถึงรสชาติที่หวานฉ่ำ กรอบอร่อย เมื่อได้รับประทานแล้วสดชื่นแตกต่างจากสวนแหล่งอื่นๆ นอกจากนี้ยังเป็นผลผลิตที่มีความสดสะอาดปลอดภัยเพราะใช้วิธีธรรมชาติในการกำจัดศัตรูของต้นชมพู่ ซึ่งในปีนี้ชมพู่ทับทิมจันทร์ของสวนนายธงชัยออกผลในปริมาณที่มาก เนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็นส่งผลให้ออกผลดี

โดยราคาจำหน่ายชมพู่หน้าสวนอยู่ที่กิโลกรัมละ 30 บาท ในแต่ละวันจะมีลูกค้าซึ่งเป็นพ่อค้าผลไม้จากจังหวัดมหาสารคามและใกล้เคียงมาซื้อถึงที่สวนเฉลี่ยวันละ 200-400 กิโลกรัม ซึ่งในแต่ละปีครอบครัวนี้มีรายได้จากการขายชมพูทับทิมจันทร์ไม่ต่ำกว่า 3 แสนบาทต่อปี โดยเฉพาะปีนี้สภาพอากาศเหมาะสม คาดผลผลิตที่ได้น่าจะประมาณ 20 ตัน ประเมินยอดขายไม่ต่ำกว่า 600,000 บาท

ข้อมูลข่าว : http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx…
ท่านสามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร สาระความรู้และแลกเปลี่ยนเคล็ดลับ เกร็ดความรู้ทางการเกษตรได้ที่ www.kasetnews.com “คลังความรู้คู่เกษตรกร”
#kasetnews #kasetnewsshop #เกษตรนิวส์ #ข่าวเกษตร #สินค้าเกษตร#ทำเกษตร #เกษตร #amazingthailand #ชมพู่ทับทิมจันทร์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *