กรมวิชาการเกษตรเตือนผู้ปลูกมันฯ รับมือ “โรคพุ่มแจ้” แนะแนวทางการป้องกันเบื้องต้น

กรมวิชาการเกษตรเตือนผู้ปลูกมันฯ รับมือ “โรคพุ่มแจ้” แนะแนวทางการป้องกันเบื้องต้น

ดร.จรรยา มณีโชติ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืชกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตร ได้ลงพื้นที่สำรวจไร่มันสำปะหลังของเกษตรกรภาคตะวันออก ได้แก่ ระยอง จันทบุรี ปราจีนบุรี และสระแก้ว ที่ประสบปัญหาโรคพุ่มแจ้รุกระบาดทำลายผลผลิตในไร่มันสำปะหลังเสียหายกว่า 70% โดยสาเหตุเกิดจากเชื้อไฟโตพลาสมา มีเพลี้ยจักจั่นเป็นแมลงพาหะของโรคและมีต้นวัชพืชสาบม่วงที่มีลักษณะใบกว้างเป็นพืชอาศัย

ซึ่งหากเชื้อเพิ่มปริมาณมากจะเข้าไปอุดตันท่อลำเลียงอาหารของพืช ทำให้ส่วนยอดแคระแกร็น พืชแตกตาข้างมาเพื่อความอยู่รอดมากขึ้น ยอดเป็นพุ่ม ใบเล็กลงสีเหลือง และใบแห้งติดกิ่งหรือร่วงหล่น กรณีระบาดรุนแรงมันสำปะหลังจะยืนต้นตาย ท่ออาหารใต้เปลือกลำต้นหรือหัวเปลี่ยนเป็นเส้นสีน้ำตาลดำ

กรมวิชาการเกษตรขอแนะนำว่า ให้เกษตรกรสังเกตลักษณะอาการของต้นมันสำปะหลังที่ถูกเชื้อไฟโตพลาสมา หากพบก็ควรตัดต้นท่อนพันธุ์จากแปลงปลูกที่เป็นโรคออกไปเผาทำลายนอกแปลง เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยข้ามฤดูกาล ลดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการแพร่ขยายพันธุ์ของเชื้อสาเหตุโรค และจำกัดวงระบาดของโรคพุ่มแจ้ไม่ให้ขยายวงกว้าง

ในกรณีที่ต้องการเก็บหัวมันสำปะหลังไว้ข้ามปี ให้เกษตรกรลอกเปลือกที่โคนต้นแล้วสังเกตดูท่ออาหารใต้เปลือกว่าเป็นเส้นสีดำหรือไม่ หากพบแสดงว่าเชื้อไฟโตพลาสมาเข้าทำลายหัวมันแล้ว ควรขุดหัวมันขายแล้วปลูกใหม่ด้วยท่อนพันธุ์จากแหล่งปลอดโรค กรณีไม่พบความผิดปกติแสดงว่าเชื้อไฟโตพลาสมายังไม่ลามลงมาถึงหัวใต้ดิน หากปล่อยทิ้งไว้เส้นลายดำและเปอร์เซ็นต์แป้งต่ำลง ผลผลิตจะขายไม่ได้ราคา

ข้อมูลข่าว : http://www.naewna.com/local/247667
ท่านสามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร สาระความรู้และแลกเปลี่ยนเคล็ดลับ เกร็ดความรู้ทางการเกษตรได้ที่ www.kasetnews.com “คลังความรู้คู่เกษตรกร”
#kasetnews #kasetnewsshop #เกษตรนิวส์ #ข่าวเกษตร #สินค้าเกษตร #ทำเกษตร #เกษตร #amazingthailand #มันสำปะหลัง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *