คนเลี้ยงปลานิลต้องฟัง! อาหารปลาสูตรหญ้าขน ผลงานนักศึกษาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ กลิ่นไม่สาบ ไม่น็อคน้ำ

คนเลี้ยงปลานิลต้องฟัง! อาหารปลาสูตรหญ้าขน ผลงานนักศึกษาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ กลิ่นไม่สาบ ไม่น็อคน้ำ

ด้วยเป็นลูกหลานเกษตรกรเข้าใจปัญหานี้ดี น.ส.อุษณีย์ สิทธิสังข์, น.ส.ศิริลักษณ์ ศรีมงคล,นายสมดี คำโสภา และนายคมสันต์ ตะเคียนเกลี้ยง นักศึกษาแผนกวิชาประมง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ จึงคิดหาวิธีลดต้นทุนค่าอาหารที่ชาวบ้านสามารถทำได้เอง ซึ่งมีโปรตีนสูงถึง 30% เท่ากับอาหารปลาสำเร็จรูปที่ขายทั่วไป โดยมี อ.จิตติมา หมั่นกิจ เป็นที่ปรึกษา

ปลานิลเป็นกลุ่มปลากินพืช เริ่มแรกเราจึงทดลองนำหญ้าเนเปียร์, ลูซี่, กินนี และหญ้าขน พืชอาหารสัตว์ มาเปรียบเทียบหาโปรตีน พบว่า หญ้าขนถ้าตัดตั้งแต่โคนไปถึงส่วนยอดในระดับความสูงไม่เกิน 4 ใบ จะมีโปรตีนสูงถึง 16% แต่ยังไม่รู้ว่าถ้านำมาบดรวมกับส่วนผสมอย่างอื่นจะขึ้นรูปอัดเป็นเม็ดได้หรือไม่ จึงต้องนำหญ้าชนิดอื่นมาเปรียบเทียบ

4 นักศึกษาจึงนำหญ้าแต่ละชนิด 1.8 กก. มาบดละเอียด แยกเป็น กอง นำปลาป่น 5.5 กก., ถั่วเหลือง 1.8 กก., ปลาย ข้าว 1.8 กก., รำละเอียด 6 กก., น้ำมัน 3 ขีด, กล้วยน้ำว้าสุก 1.8 กก. และกากมะพร้าว 5 ขีด ช่วยเพิ่มความหอมกระตุ้นให้ปลากินอาหาร ผสมกับหญ้าบด แยกแต่ละชนิด แล้วขึ้นรูปอัดเม็ด ผึ่งลมให้แห้งนาน 3 วัน ทดสอบการจับตัวปรากฏว่า คงรูป เม็ดไม่แตก

นำไปทดสอบเลี้ยงเปรียบเทียบ แต่ละบ่อใส่ปลานิล 100 ตัว บ่อแรก เลี้ยงด้วยอาหารปลาสูตรผสมหญ้าขน ส่วนบ่อที่ 2 เลี้ยงด้วยอาหารปลาที่ขายทั่วไป ระยะเวลา 5 เดือน ปลาที่เลี้ยงด้วยอาหารผสมหญ้าขนโตเร็ว เนื้อแน่นเหมือนปลาธรรมชาติ ไม่มีกลิ่นสาบ มีอัตราการรอดชีวิต 91% แม้สภาวะอากาศเปลี่ยน ปลาไม่เครียด กินอาหารได้เป็นปกติ สภาพน้ำไม่เน่าเสียง่าย

เพื่อให้มั่นใจว่า ผลงานที่ทำออกมาใช้ได้กับการเลี้ยงจริง ทีมนักศึกษาได้นำอาหารผสมหญ้าขน ไปทดสอบเลี้ยงที่ฟาร์มปลานิลใน ต.ด่าน อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ได้ผลไม่แตกต่างกับที่ทดลองเลี้ยงในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ ช่วยลดต้นทุนค่าอาหารได้ถึง 28%จากที่เคยต้องซื้อ กก.ละ 25 บาท ทำเองตามสูตรต้นทุนอยู่ที่ 18 บาทเท่านั้นเอง เกษตรกรที่สนใจอบรมทำอาหารปลาสูตรหญ้าขน สอบถามได้ที่ 0-4561-2934

ข้อมูลข่าว : http://www.thairath.co.th/content/673287
ท่านสามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร สาระความรู้และแลกเปลี่ยนเคล็ดลับ เกร็ดความรู้ทางการเกษตรได้ที่ www.kasetnews.com “คลังความรู้คู่เกษตรกร”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *