เกษตรกร อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา จะมีอาชีพทำสวนยางพาราเป็นหลัก สวนยางแห่งไหนมีต้นยางแก่อายุเกิน 30 ปี ชาวบ้านจะโค่นต้นยางทิ้ง เพื่อปลูกใหม่ทดแทนระหว่างที่รอต้นยางปลูกใหม่เจริญเติบโต ในช่วง 3 ปีแรก เกษตรกรจะปลูกพืชอย่างอื่นแซมระหว่างร่องแถวยางพาราเพื่อหารายได้ชดเชย มีทั้งปลูกข้าวโพดหวาน ถั่วลิสง แต่ที่จะปลูกกันมากเป็นพิเศษนั่นคือ ข้าวเหนียวดำพันธุ์พื้นเมือง
นอกจากจะเป็นพื้นที่ทำรายได้ให้ดีกว่าพืชตัวอื่น ข้าวเหนียวดำยังเป็นพืชที่สามารถนำมาแปรรูปเป็นขนม ได้หลายอย่างที่จำเป็นต้องนำไปในเทศกาลประเพณีงานบุญของคนภาคใต้ด้วย ชาวสวนยางที่นี่เลยนิยมปลูกข้าวเหนียวดำกันมาก
นางบุญเจือ เพ็ชรแกมแก้ว ประธานคณะกรรมการดำเนินการ สหกรณ์การเกษตรคลองหอยโข่ง จำกัด ผู้ส่งเสริมและผลักดันในข้าวเหนียวดำคลองหอยโข่งให้เป็นที่รู้จัก เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายเพิ่มขึ้นบอกอีกว่า ด้วยข้าวเหนียวดำแซมสวนยาง
ปลูกในพื้นที่เป็นที่ ราบเนินเขา ดินมีความอุดมสมบูรณ์ มีแร่ธาตุแมกนีเซียมมากเป็นพิเศษ ประกอบที่ดินสวนยางมีการบำรุงมาตลอด 30 ปี เลยทำให้ข้าวเหนียวดำคลองหอยโข่งมีความหอม นุ่ม อร่อย มีน้ำมันรำข้าวมากกว่าข้าวเหนียวดำที่ปลูกในแหล่งอื่นๆ
และจากการศึกษาหาข้อมูลด้านโภชนาการทางสหกรณ์การเกษตรคลองหอยโข่ง พบว่าข้าวเหนียวดำมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มระดับไขมันดีในกระแสเลือด บำรุงการทำงานของต่อมใต้สมอง ช่วยให้เกิดการกระจายตัวของเกล็ดเลือด และลดการเกิดกรดในกระเพาะอาหาร กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง
รวมถึงช่วยให้ลำไส้ดูดซึมสารอาหารได้ดีขึ้น ช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบหัวใจ ประสาทและกล้ามเนื้อ บำรุงสายตา บำบัดโรคเรื้อรังที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย ช่วยให้นอนหลับสนิท แก้ปัญหาวัยทอง
ปัจจุบันข้าวเหนียวดำคลองหอยโข่งแซมสวนยางมีผลผลิตอยู่ที่ปีละ 5,000 กก. โดยมีสหกรณ์การเกษตรคลองหอยโข่งเข้ามาช่วยรับซื้อผลผลิตเพื่อนำไปทำการตลาด จำหน่ายทั้งในรูปข้าวเหนียวดำและแปรรูปเป็นขนมในรูปแบบต่างๆ แต่ต้องสั่งจองกันล่วงหน้า สนใจติดต่อได้ทาง โทร.06–3195–0331 หรือ Line : @COOPPKHK
ขอบคุณข้อมูล