วิธีรับมือกับ 5 โรคพืช ที่พบบ่อยในช่วงฤดูฝน!

วิธีรับมือกับการระบาดของ 5 โรค 

ที่พบบ่อยในช่วงฤดูฝน โดยให้เกษตรกร

หมั่นสำรวจแปลงปลูกพืชอย่างสม่ำเสมอ

เพื่อเฝ้าระวังการระบาด และวางแผนการจัดการ

โรคพืชในแปลงปลูกให้ดี เพื่อลดความเสียหาย

ที่จะเกิดจากการเข้าทำลายของโรคพืชเหล่านี้

1) โรคราน้ำค้าง มักพบในพืชตระกูลแตง เช่น แตงกวา แตงร้าน แตงโม แตงไทย เมล่อน แคนตาลูป ซูกินี ฟักทอง ฟักเขียว ฟักแม้ว มะระจีน และบวบ

การระบาด : สภาพที่เหมาะสมของการเกิดโรคคือ ช่วงที่อากาศค่อนข้างเย็นและความชื้นสูง เชื้อราสาเหตุโรค สามารถแพร่ระบาดโดยลม น้ำ เครื่องมือการเกษตรและการเคลื่อนย้ายพืชปลูก โดยสามารถมีชีวิตอยู่ข้ามปีได้

 การป้องกันกำจัด :

– หมั่นสำรวจแปลงปลูก หากพบพืชที่แสดงอาการ ให้เก็บส่วนที่เป็นโรคออกและนำไปทำลายทิ้งนอกแปลง

– คลุกเมล็ดด้วยสารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา หรือแช่เมล็ดในน้ำอุ่นก่อนปลูก หากระบาดมากสามารถใช้สารเคมีไดเมโทมอร์ฟ ฉีดพ่นตามคำแนะนำ

2) โรคเน่าคอดิน มักพบใน ต้นกล้าของพืชผักและพืชไร่

การระบาด : เชื้อราสามารถแพร่กระจายจากการติดมากับเมล็ดพันธุ์ อยู่ในดินหรือแพร่กระจายโดยน้ำ

การป้องกันกำจัด :

– หมั่นสำรวจแปลงปลูกอยู่เสมอ เมื่อพบต้นกล้าที่เป็นโรค ให้ถอนและนำ – ใช้เมล็ดพันธุ์ดีปราศจากเชื้อโรคพืช และมีความงอกสูง ไม่หว่านเมล็ดแน่นเกินไป เว้นระยะต้นให้แสงแดดสามารถส่องผ่านได้

– ก่อนปลูกคลุกเมล็ดด้วยสารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา

– วัสดุปลูกและแปลงปลูกควรสะอาด มีการระบายน้ำที่ดี อาจปรับสภาพดินในแปลงด้วยปูนขาว หรือใส่ปุ๋ยอินทรีย์และเชื้อราไตรโคเดอร์มาในดินก่อนปลูก

3) โรคราสนิมขาวในผัก มักพบในผัก เช่น ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว และในไม้ดอก เช่น เบญจมาศ

การระบาด : ระบาดรุนแรงในฤดูฝนหรือช่วงอากาศชื้น

การป้องกันกำจัด :

– กำจัดวัชพืชในแปลงปลูก

– หมั่นสำรวจแปลงปลูกอยู่เสมอ หากพบโรคในปริมาณน้อยให้ถอน หรือตัดเผาทำลาย

– แปลงที่เกิดโรคระบาด ควรงดการให้น้ำแบบพ่นฝอย และไม่ควรให้น้ำจนชื้นแฉะเกินไป

– ใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มาคลุกเมล็ดหรือหว่านลงแปลงก่อนปลูก หรือฉีดพ่นป้องกันกำจัดโรค อัตราตามคำแนะนำ

4) โรคใบจุด มักพบในพืชผักตระกูลกระหล่ำ

การระบาด : ระบาดมากในช่วงฤดูฝน ความชื้นสูง เชื้อสาเหตุโรคสามารถแพร่กระจายตามน้ำ ลม แมลง สัตว์ เครื่องมือทางการเกษตรกร และเมล็ดพันธุ์ หรืออาศัยอยู่กับวัชพืชในแปลง

การป้องกันกำจัด :

– หมั่นสำรวจแปลงปลูกอยู่เสมอ เมื่อพบส่วนที่เป็นโรคให้เด็ดทิ้งและนำไปทำลายนอกแปลงปลูก

– ปลูกพืชหมุนเวียน และมีการจัดการระบบน้ำที่ดี

– คลุกเมล็ดด้วยสารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา หรือแช่เมล็ดในน้ำอุ่นก่อนปลูก

– สามารถฉีดพ่นสารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อราไตรโดเดอร์มา เพื่อป้องกันกำจัดหรือเมื่อพบโรคในแปลง

– หากพบการระบาดรุนแรง สามารถฉีดพ่นด้วยสารเคมีกำจัดโรคพืช หรืออาจต้องมีการพักแปลง ตากดิน

5) โรคเหี่ยว พบในพืชพวกแตงชนิดต่างๆ เช่น แตงกวา แตงร้าน แตงแคนตาลูบ (cantaloup) แตงไทย แตงโม ฟักแฟง ฟักทอง แตงสควอซ (squash) เป็นต้น

การระบาด : สภาพอากาศมีอุณหภูมิสูง ดินมีความชื้นสูง และฝนตกชุก จะทำให้โรคนี้ระบาดได้ดี

การป้องกันกำจัด :

– หมั่นตรวจแปลงปลูก เมื่อพบโรคให้ถอนต้นที่เป็นโรคนำไปทำลายนอกแปลงปลูก

– หลีกเลี่ยงการปลูกพืชในพื้นที่ที่เคยเกิดการระบาดมาก่อน หรือปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน

– แปลงปลูกควรมีการระบายน้ำที่ดี ไม่ปลูกพืชแน่นเกินไป

– ทำความสะอาดอุปกรณ์ทางการเกษตร เพื่อป้องการเชื้อสาเหตุโรคไปยังต้นปกติ

– ก่อนปลูกควรไถกลับหน้าดินตากแดด และใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพดิน หรือใส่ปุ๋ยอินทรีย์และเชื้อราไตรโคเดอร์มาในดินก่อนปลูก

– ใช้สารชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา สำหรับโรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อรา หรือเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ซับทีลิส สำหรับโรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย

– หากพบการระบาดรุนแรงสามารถใช้สารเคมีในกรณีเกิดจากเชื้อรา เช่น เมตตาแลกซิล อัตราตามคำแนะนำ กรณีเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ควรพักแปลง ตากดิน ใส่ปูนขาว เพื่อลดการสะสมของเชื้อในดิน หรือปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อตัดวงจรการเกิดโรค

ขอบคุณข้อมูล :

ทีมประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *