เกษตรกรผู้ปลูกองุ่น…ให้ระวังการระบาดของโรคผลเน่าและโรคใบจุด

เตือนเกษตรกร ผู้ปลูกองุ่นให้สังเกตการระบาดของโรคผลเน่า และโรคใบจุด มักพบอาการของโรคได้ในระยะที่องุ่นติดผลจนถึงระยะก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิต
เฝ้าระวังสวนองุ่นในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกัน สลับกับมีอากาศร้อน สภาพอากาศเช่นนี้ แนะเกษตรกรผู้ปลูกองุ่นให้สังเกตการระบาดของโรคผลเน่าและโรคใบจุด มักพบอาการของโรคได้ในระยะที่องุ่นติดผลจนถึงระยะก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิต สำหรับโรคผลเน่า อาการบนใบ ในระยะแรกอาการของโรคจะคล้ายกับโรคใบจุดมาก คือ จะเห็นแผลจุดสีน้ำตาลขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วไปบนใบและกิ่งก้าน อาการบนผล เริ่มแรกเป็นแผลจุดสีน้ำตาลขนาดเล็ก จากนั้น แผลขยายใหญ่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนจนเห็นได้ชัดเจนบนผลองุ่นในระยะใกล้เก็บเกี่ยว แผลฉ่ำน้ำ ยุบตัวลง ไม่มีขอบแผลที่ชัดเจน เนื้อเยื่อกลางแผลฉีกขาด กรณีในสภาพอากาศที่มีความชื้นสูง ตรงกลางแผลจะพบจุดสีดำขนาดเล็กเรียงเป็นวงซ้อนกัน อาจพบเมือกสีส้มที่เป็นส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อรา ผลองุ่นที่เป็นโรคจะยังคงติดอยู่กับช่อไม่ร่วงหล่น แต่จะค่อยๆ เน่าแห้งและเปลี่ยนเป็นสีดำทั้งผล ต่อมาโรคจะขยายลุกลามไปยังผลอื่นๆ ในช่อนั้นจนกระทั่งเน่าเสียหมดทั้งช่อ
หากพบอาการของโรคผลเน่า ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชอะซอกซีสโตรบิน 25% เอสซี อัตรา 5 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโพรคลอราซ 45% อีซี อัตรา 10-20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 40-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นทุก 5–7 วัน
ส่วนโรคใบจุดที่พบได้ในช่วงนี้ อาการของโรคบนใบและกิ่งก้านในระยะแรกจะคล้ายกับอาการของโรคผลเน่า แต่จะเห็นอาการของโรคแตกต่างกันได้อย่างชัดเจนที่ผล อาการบนใบ พบใบอ่อนเป็นจุดแผลขนาดเล็กสีน้ำตาลอ่อนกระจายอยู่ทั่วใบ ใบหงิกงอ ต่อมาแผลขยายใหญ่ เนื้อใบที่เป็นแผลจะแห้งและเป็นรูพรุน อาการบนเถา กิ่ง ก้าน และมือเกาะ เริ่มแรกเป็นจุดแผลสีน้ำตาล กรณีโรคระบาดรุนแรง แผลขยายตัวขนาดใหญ่ติดต่อกัน แผลกลมสีน้ำตาลค่อนข้างแห้ง ขอบแผลนูนแข็ง หากเกิดโรคบนกิ่งบริเวณส่วนยอด จะทำให้ยอดบิดเบี้ยว อาการที่ผล เกิดแผลจุดสีดำยุบตัวลง ขอบแผลนูนขึ้นเห็นได้ชัดเจน หากอาการรุนแรง แผลจะขยายใหญ่ ขอบแผลมีสีอ่อนกว่าตรงกลางแผล และแผลค่อนข้างแห้ง
เมื่อพบการระบาดของโรคใบจุด ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชไดฟีโนโคนาโซล 25% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไพราโคลสโตรบิน 25% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 5-7 วัน โดยทั้ง 2 โรคนี้ถ้าพบโรคเริ่มระบาด ให้เกษตรกรหมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง มีอากาศถ่ายเทสะดวก อย่าให้มีใบแน่นทึบจนเกินไป อีกทั้งควรตัดและเก็บส่วนที่เป็นโรคออกจากแปลงไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดการสะสมของเชื้อสาเหตุโรค

ขอบคุณที่มา : facebook เพจ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร /เกษตรทันข่าว.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *