การทำระบบน้ำสำหรับการเกษตร และวิธีการติดตั้งที่ดี

การออกแบบระบบน้ำสำหรับการเกษตรเป็นเรื่องที่เกษตรกรทุกคนต้องคิดกันอยู่แล้ว เพราะระบบน้ำที่ดีนอกจากจะช่วยเพิ่มผลผลิตให้เราได้แล้ว ยังช่วยประหยัดทั้งค่าน้ำและค่าวัสดุประปาที่เราใช้อีกด้วย

ในวันนี้เรามาดูกันว่าการทำระบบน้ำสำหรับการเกษตรที่ดีเป็นยังไงบ้าง

การทำระบบน้ำในการเกษตร

ระบบน้ำในการเกษตร คือการเดินน้ำสู่ผืนดินผ่านระบบสายยาง ท่อ และหัวฉีดน้ำต่างๆ เหมาะสำหรับการเกษตรในพื้นที่ที่มีน้ำฝนไม่ต่อเนื่อง หรือมีช่วงน้ำแล้งน้ำแห้ง จนทำให้ไม่สามารถทำการเกษตรได้ ระบบน้ำในการเกษตรแบ่งได้เป็นสองแบบคือ ระบบน้ำแบบหยด และ ระบบน้ำพุ่ง

ก่อนที่เราจะไปดูวิธีการติดตั้ง เราก็ต้องมาดูความสำคัญของระบบน้ำกันก่อน สาเหตุที่เราต้องพึ่งระบบน้ำก็เพราะว่า ‘น้ำฝน’ ไม่พอนั่นเอง ประเทศไทยเป็นประเทศที่ร้อนแถมมีอากาศแห้ง ถ้าไม่ใช่ช่วงหน้าฝน เราก็คงไม่สามารถปลูก พืช ผัก หรือ ผลไม้ ได้ในปริมาณที่ดี บางช่วงถ้าแล้งมากๆพืชผักเราอาจจะตายหมดเลยก็ได้ถ้าเราไม่มีระบบน้ำคอยช่วย

เราเรียนกันมาตั้งแต่เด็กแล้วว่า ‘น้ำ’ สำคัญกับการเกษตรแค่ไหน น้ำที่ดีต้องมีมากพอสำหรับแปลงเกษตรของเรา หากเราปลูกพืชผักแปลงใหญ่เราก็ควรใช้น้ำบาดาล หรือหากเราปลูกแปลงเล็กๆไว้กินเองที่บ้าน เราก็อาจจะใช้น้ำประปาเป็นต้น

นอกจากนั้นแล้ว ‘วิธีการให้น้ำ’ ก็เป็นสิ่งที่เราต้องคิดถึงด้วย พืชผักบางอย่างใช้น้ำน้อย หากเราให้ฝืนให้น้ำเยอะเกินวัชพืชข้างๆอาจจะแย่งสารอาหารไปได้ พืชบางอย่างก็ใช้น้ำเยอะ หากเราให้น้ำน้อยเกินก็จะโตได้ไม่เต็มที่

การติดตั้งระบบน้ำสวนเกษตร

ระบบน้ำสวนเกษตรที่คนนิยมกันมากที่สุดก็คือ ระบบน้ำผ่านสปริงเกอร์ (หัวฉีดน้ำ) แบบต่างๆ ระบบน้ำแบบนี้ลำเลียงน้ำผ่านปั๊มน้ำความดันสูงที่จะอัดฉีดน้ำจากท่อประธานหรือท่อเมนใหญ่เข้าไปในท่อย่อยเพื่อลำเลียงน้ำเข้าไปในหัวฉีดสปริงเกอร์อีกที โดยส่วนประกอบของระบบน้ำสวนเกษตรแบบนี้คือ

น้ำต้นทาง– ในกรณีนี้หมายถึงน้ำบาดาลหรือน้ำประปา เป็นน้ำต้นทางที่เราจะลำเลียงเข้าไปในระบบเกษตรของเรา น้ำต้นทางควรมีปริมาณที่เพียงพอต่อการใช้งานของเรา สามารถคำนวณย้อนหลังจากความเร็วของหัวฉีด จำนวนของหัวฉีด และชนิดของพืชผักที่เราปลูก ถ้าเราต้องใช้ในปริมาณเยอะ เราก็จำกเป็นต้องมี ‘ถังน้ำ’

ท่อประธาน (ท่อเมน) – เป็นท่อหลักที่ลำเลียงน้ำเข้าสู่ท่อย่อยๆอีกที ส่วนมากจะมีขนาด 2” ขึ้น หากระบบน้ำมีขนาดใหญ่ เราก็ควรจะใช้ท่อที่มีขนาดใหญ่และรับแรงดันน้ำได้เยอะเพื่อป้องกันท่อเสีย ท่อรั่ว งสวนเกษตรที่มีขนาดใหญ่ก็ควรเลือกวัสดุที่มีคุณภาพดีตามความเหมาะสม หากระบบเรามีขนาดใหญ่มาก เราก็อาจจะใช้ท่อประธานรอง เพื่อลำเลียงน้ำให้ทั่วถึงมากขึ้น

ท่อย่อย– คือท่อที่ลำเลียงน้ำจากท่อประธานเข้าสู่ส่วนต่างๆในสวนของเราอีกที ท่อย่อยส่วนมากจะมีขนาด ½” หรือ ¾” (ขึ้นอยู่กับหัวฉีดสปริงเกอร์ และจำนวนน้ำที่เราต้องการฉีดออกมา)

ปั๊มน้ำ – ใช้ตอนต้นทางเพื่อปั๊มน้ำจากต้นทางเข้าไปในท่อประธาน และถ้าระบบท่อย่อยเรามีแรงดันไม่พอ เราก็อาจจะติดตั้งปั๊มน้ำเพิ่มเพื่อให้น้ำไหลอย่างทั่วถึงและเพียงพอสำหรับหัวฉีดทุกจุด

หัวฉีดสปริงเกอร์ – มีทั้งรูปแบบหยด และ แบบน้ำพุ่ง ขึ้นอยู่กับชนิดพืชผักที่เราปลูก

พืชผักที่ใช้น้ำไม่เยอะก็ควรใช้เป็นระบบน้ำหยด เพราะถ้าเราใช้ระบบน้ำอื่นที่ฉีดน้ำมากเกินไป (เช่นระบบน้ำพุ่ง) เราก็จะทำให้วัชพืชหรือพืชผักอื่นที่เราไม่ต้องการโตได้ ซึ่งพืชผักพวกนี้ส่วนมากจะมาแย่งสารอาหารจากสิ่งที่เราอยากปลูก

ในบทความนี้เรามาดูกันว่าระบบน้ำหยดทั่วไปนั้นติดตั้งอย่างไร และมีอะไรที่เราควรรู้บ้าง

ระบบน้ำหยดและข้อควรรู้
ระบบน้ำหยดเป็นระบบน้ำเกษตรที่คนพูดถึงบ่อยมาก ชาวเกษตรส่วนมากชอบระบบน้ำแบบนี้เพราะใช้น้ำน้อยกว่าและเหมาะกับการปลูกพืชผักในไทยหลายชนิด ทั้งต้นไม้ ผัก ผลไม้ต่างๆ

ข้อดีของระบบน้ำหยดก็คือ ‘ความสม่ำเสมอ’ ของการหยดน้ำ ระบบน้ำแบบนี้ทำให้เราสามารถควบคุมปริมาณน้ำได้ง่ายซึ่งนอกจากจะประหยัดงบแล้ว ยังช่วยให้พืชผักของเรารับสารอาหารได้เพียงพออีกด้วย ที่สำคัญหัวฉีดระบบน้ำหยัดยังมีราคาประหยัด หาซื้อได้หัวละไม่ถึงห้าบาทด้วยซ้ำ หากเทียกับหัวฉีดน้ำแบบอื่นแล้ว ราคาดีกว่ากัน 20-30% ถ้าเราปลูกสวนขนาดใหญ่จะช่วยประหยัดได้เยอะมาก

เกษตรกรมือใหม่อาจจะลืมคิดไป แต่สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับระบบน้ำหยดก็คือ ‘ดิน’

ดินที่ดีสำหรับระบบน้ำหยดต้องไม่ขังน้ำ หากเราออกแบบระบบน้ำและดูแลดินไม่ดี ดินอาจจะขังน้ำและทำให้น้ำแฉะ ซึ่งสำหรับพืชผักที่ไม่ต้องการน้ำเยอะๆในระบบแบบนี้ อาจจะทำให้พืชผักเราตายได้

ข้อแนะนำก็คือการยกโคนต้นให้สูงขึ้นมาหน่อยเพื่อให้น้ำไม่ขังแถวปลายรากมาก อย่างไรก็ตาม ‘ความสูงของราก’ และ ‘ปริมาณน้ำ’ ที่ดีนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของพืชผล ในกรณีนี้เราอาจจะต้องศึกษาหรือทำการทดลองปริมาณที่เหมาะสมสำหรับระบบน้ำหยดของเราเอง

อุปกรณ์ที่ใช้ในการวางระบบน้ำ
นอกจากหัวฉีดสปริงเกอร์ที่เราได้ดูกันไปแล้ว ‘ปั๊มน้ำ’ และ ‘ท่อน้ำ/ท่อประปา’ ก็เป็นวัสดุที่เราต้องดูกัน

ปั๊มน้ำ สามารถหาซื้อได้จากร้านขายอุปกรณ์เกษตรทั่วไป มีตัวเลือกไม่ค่อยเยอะเท่าไร เราแค่ต้องเลือกจำนวนแรงม้าให้เหมาะสมกับการใช้งานของเราก็พอ โดยรวมแล้วท่อ 2” ควรใช้แรงดัน 2 แรงม้า อย่างไรก็ตามเราก็ควรดูความยาวของท่อและปริมาณน้ำที่เราต้องจ่ายไปท่อย่อยทั้งหมดด้วย วิธีการเลือกปั๊มน้ำที่ดีที่สุดก็คงไม่พ้น ‘การคำนวณ’ อยู่ดี

ท่อน้ำ (หมายถึงทั้งท่อประธาน และ ท่อย่อย) เป็นส่วนที่เราควรใส่ใจในการเลือกซื้อเป็นพิเศษ เนื่องจากว่าเราต้องใช้ในจำนวนมากและมีราคารวมค่อนข้างแพง หากเลือกซื้อผิดอาจจะเสียหายหลายหมื่นหลายแสนบาทได้

ท่อน้ำที่นิยมใช้ในระบบน้ำการเกษตรมีอยู่ 2 อย่าง ก็คือท่อ PE และ ท่อPVC ท่อพีอีจะมีราคาถูกกว่าสำหรับท่อขนาดเล็กกว่า 20มม ทำให้เหมาะกับการเกษตรขนาดย่อม แต่ท่อ PVC มีความทนทานมากกว่า หาซื้อง่ายกว่า ซึ่งเหมาะกับระบบการเกษตรที่ต้องใช้ท่อขนาดใหญ่กว่า 2 นิ้ว (หรือท่อประธาน) โดยรวมแล้วคนทั่วไปก็จะแนะนำให้ใช้ท่อ PVC

ในความจริงแล้ว ราคาตลาดของท่อพีวีซีก็ไม่ถือว่าแพงเท่าไร ถ้าเลือกใช้ให้ดีแล้วซื้อมีจำนวนก็สามารถช่วยประหยัดได้เยอะ

การวางระบบน้ำในสวนเกษตรสวนผลไม้

การวางระบบน้ำในแต่ละที่นั้นต้องมีข้อจำกัดที่ไม่เหมือนกัน ก่อนที่เราจะเริ่มลงทุนจริงจังกับสวนของเรา เรามาดูข้อควรระวังกันก่อน

ปริมาณน้ำที่ใช้ – พืชผักผลไม้แต่ละชนิดใช้ปริมาณน้ำไม่เท่ากัน ชนิดของพืชผักแต่ละอย่างทำให้เราต้องดูทั้งชนิดดิน วิธีการออกแบบระบบน้ำ และเลือกซื้ออุปกรณ์การเกษตรที่เหมาะสมกับการปลูกของเรา

ช่วงเวลาการเติบโต – ผลไม้เช่นทุเรียนต้องการปริมาณน้ำมากน้อยขึ้นอยู่กับช่วงการเจริญเติบโต ในช่วงเริ่มออกดอกใหม่ๆเราควรควบคุมประมาณน้ำให้พอเพียง แล้วค่อยลดปริมาณน้ำหลังจากดอกเริ่มโตเป็นต้น การให้น้ำอย่างเพียงพอจะช่วยทำให้ผลผลิตเราออกมาดี แถมยังช่วยประหยัดค่าน้ำเราได้ด้วย

การจัดวางระยะปลูก – หากเราต้องการปลูกผลไม้ให้ได้ผลผลิตมากที่สุดสำหรับพื้นที่ของเรา เราก็ต้องคำนึงถึงการจัดวางระยะปลูก เราต้องจัดวางพืชผักผลไม้ของเราไม่ให้แย่งสารอาหารกันเอง ให้การรดน้ำทั่วถึง และให้ได้รับแสงแดงอย่างพอเพียงทุกที่

ระยะเวลาปลูกของเรา – เราต้องการปลูกให้ได้ผลลัพธ์ระยะยาวหรือระยะสั้น การปลูกให้ได้ผลเยอะใน 3-5 ปีมีการออกแบบไม่เหมือนกับการปลูกให้ได้ผลเยอะใน 2-3 ปี ในกรณีนี้เราต้องกลับมาดูเงินหมุนและระยะปัญผลที่เรายอมรับได้กัน

โรคและแบคทีเรียต่างๆ – ยกตัวอย่างเช่นหากเราปลูกส้ม โรคกรีนนิ่งหรือเชื้อแบคทีเรียที่ทำลายสารอาหารของส้มก็เป็นสิ่งที่เราควรระวัง ก่อนปลูกพืชผลไม้แต่ละอย่างให้ศึกษาโรคหรือแบคทีเรียที่สำคัญสำหรับผลผลิตของเราด้วย ข้อนี้ดูอาจจะไม่เกี่ยวกับระบบน้ำเท่าไร แต่แมลงหรือแบคทีเรียต่างๆต้องแก้จากระบบน้ำของเราเลย

การทำระบบน้ำสำหรับการเกษตรมีขั้นตอนเยอะ และมีปัจจัยยุ่งยากหลายอย่างเลย การเกษตรเป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนและใส่ใจให้เวลาเยอะมากๆ หากเราไม่ออกแบบการทำระบบให้ดีตั้งแต่แรก ปัญหาที่ตามมาอีกหกเดือน หรือหนึ่งปีภายหลังจะมีเยอะมา

ขอขอบคุณข้อมูล : https://www.fourfarm.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *