เตือนสวนยางพารา! มาพร้อมฝนกับโรคใบร่วงชนิดใหม่ กยก.แนะวิธีการป้องกันกำจัด

🌳ดร.กฤษดา สังข์สิงห์ ผอ.สถาบันวิจัยยางการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า โรคที่ตามมาในช่วงหน้าฝนและส่งผลเสียต่อยางพาราหลักๆ ได้แก่ โรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา ซึ่งเกิดจากเชื้อราColletotrichum โดยโรคนี้จะทำลายใบแก่ทุกช่วงอายุยาง หากเป็นต้นยางเล็กที่เป็นรุนแรงอาจทำให้ต้นยางตายอย่างรวดเร็ว หากพบโรคนี้ให้ดำเนินการป้องกันกำจัด ดังนี้

กรณีต้นยางเล็กให้รีบกำจัดใบที่เป็นโรค โดยการเก็บใส่ถุง นำไปเผาในถังปิด และฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรากลุ่ม ไตรอะโซลส์ (triazoles) เช่น โพรพิโคนาโซล + ไดฟิโนโคนาโซล โพรพิโนโคนาโซลเฮกซะโคนาโซล หรือ คาร์เบนดาซิม อย่างน้อยทุก 15-30 วัน

กรณีแปลงยางต้นใหญ่ให้ใช้สารดังกล่าว ฉีดพ่นด้วยเครื่องฉีดพ่นแรงดันสูง โดรน หรือแอร์บล๊าส ตั้งแต่ช่วงต้นฤดูฝน อย่างน้อยทุก1-1.5 เดือน หมั่นกำจัดวัชพืชในสวนยางให้เตียนโล่งอยู่เสมอเพื่อลดแหล่งแพร่ขยายเชื้อ พร้อมใส่ปุ๋ยบำรุงสวนยางสม่ำเสมอเพื่อให้ต้นยางเจริญแข็งแรง

นอกจากนี้ โรคอีกชนิดที่พบมาก คือโรครากขาว ซึ่งสามารถทำให้เกิดโรคตั้งแต่เริ่มปลูกหากละเลยไม่มีการจัดการจะทำให้ต้นยางตายเพิ่มขึ้น การจัดการโรครากขาวช่วงการเตรียมแปลงปลูกเกษตรกรควรกำจัดตอไม้/รากไม้ออกจากแปลงปลูกให้มากที่สุด และไถหน้าดินตากแดดเพื่อให้แหล่งเชื้อย่อยสลาย ควรตรวจสอบต้นยางสม่ำเสมอ

หากพบต้นเป็นโรคให้กำจัดออกหรือรักษาตามอาการ ต้นที่เป็นอาการใบเหลืองและตายให้ตัดต้นขุดรากออก ต้นยางที่แสดงอาการเล็กน้อยและต้นใกล้เคียงต้นเป็นโรคใช้สารเคมีกำจัดเชื้อรากลุ่ม ไตรอะโซลส์ (triazoles) ผสมน้ำราดบริเวณโคนต้น หรือในคูที่ขุดล้อมบริเวณที่เป็นโรค

ขอบคุณข้อมูล
naewna

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *