ผลผลิตยางพาราในประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนมาก ในภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้เกษตรกรต่างประสบปัญหาด้านความผันผวนของราคา นักวิจัยไทย จึงพยายามคิดค้น นำยางพาราไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์
ล่าสุด กับผลงานชิ้นเยี่ยม ของศาสตราจารย์ ดร.ศราวุธ ริมดุสิต อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สามารถนำยางพาราไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ ‘ผ้าเบรกรถยนต์’ ซึ่งอาจารย์ได้เล่าถึงวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งผ้าเบรกรถยนต์ว่า เกิดจากการพัฒนาอนุภาคยางพาราผงละเอียดยิ่งยวด ด้วยการกราฟต์โคพอลิเมอไรเซชันสไตรีน ของอะคริโลไนไตรล์ ลงบนน้ำยางธรรมชาติผ่านกระบวนการอิมัลชัน และนำไปผ่านกระบวนการเชื่อมขวางด้วยลำอิเล็กตรอน
เพื่อผลิตเป็นอนุภาคยางพาราผงธรรมชาติละเอียดยิ่งยวด ด้วยกระบวนการอบแห้งและพ่นฝอย โดยในปฏิกิริยากราฟต์โคพอลิเมอไรเซชันด้วยสไตรีน และอะคริโลไนไตรล์สูงอยู่ที่ 71% และมีประสิทธิภาพในการทำกราฟต์โคพอลิเมอไรเซชันสูงถึง 63%
ด้วยอนุภาคยางพาราผงละเอียดยิ่งยวดมีลักษณะไม่เหนียวติดกันหรือเกาะกลุ่ม สามารถปรับสภาพขั้วบนพื้นผิวให้แหมาะสมกับการนำไปผสมกับวัสดุต่าง ๆ และมีขนาดโดยเฉลี่ย 3.56 um รวมถึงมีคุณสมบัติทางความร้อนสูง ซึ่งเหมาะแก่การนำไปประยุกต์ใช้เป็นสารตัวเติมในวัสดุเสียดทานชนิดโพลิเบนซอกซาซีนคอมโพสิต
จากการประเมินสมบัติทางทฤษฎีไตรโบโลยี พบว่า ชิ้นงานมีค่าสัมประสิทธิ์ความเสียดทานและอัตราการสึกหรอ อยู่ในช่วงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมผ้าเบรกสำหรับยานยนต์ มาตรฐานเลขที่ มอก. 97-2557 กำหนด ทดแทนยางสังเคราะห์ได้ ซึ่งนับว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางธรรมชาติ
ด้านต้นทุนการผลิตอนุภาคยางพาราขนาดละเอียดคิดเป็น 140 บาทต่อกิโลกรัม ต้นทุนการผลิตวัสดุเสียดทานชนิดโพลิเบนซอกซาซีนคอมโพสิตที่มีการเติมอนุภาคยางผงละเอียดยิ่งยวดที่ถูกปรับปรุงคุณสมบัติด้วยกราฟต์โคพอลิเมอไรเซชันด้วยสไตรีนและอะคริโลไนไตรล์ คิดเป็น 60 – 75 ต่อชิ้น
จากองค์ความรู้ของนวัตกรรมผ้าเบรกจากยางพาราผงนี้ จะมีการขยายผลพัฒนาต่อยอด เสริมศักยภาพในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงเป็นการช่วยส่งเสริมเกษตรกรชาวสวนยางพาราให้ได้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์แปรรูปนี้มากยิ่งขึ้น
สำหรับผลงานชิ้นนี้เกิดจากความร่วมมือ ระหว่าง ศ.ดร.ศราวุธ ที่ได้ร่วมกับทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ และบริษัท SCG โดยการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อพัฒนาอนุภาคยางพาราผงละเอียดดังกล่าว
ขอบคุณข้อมูล
https://www.spacebar.th/…/converting-rubber-to-car…
ปรึกษาปัญหาเกษตรโทร.02-104-9999
ทักแชท https://m.me/kasetnewstv
ไลน์ @Kasetnews หรือกด
https://line.me/ti/p/%40kasetnews
กด Like และ ติดตามเพจ
เพื่อรับข่าวสารด้านเกษตรก่อนใครได้ที่นี่
#ช่องเกษตรนิวส์ ดูได้ที่กล่อง PSI หมายเลข 72