ข้าว เป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย แต่ทว่าเมื่อเข้าสู่ฤดูที่สามารถทำนาได้ ชาวนาและเกษตรกรหลายคนมักประสบปัญหา ศัตรูพืชของข้าวอย่าง หนอนกอข้าว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งศัตรูพืชที่สามารถพบได้ง่ายในทุกสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะฝนตก หรือแดดออก ซึ่งต้นข้าวที่ถูกทำลายนั้นเกษตรกรจะสามารถพบหนอนติดอยู่ที่ใบข้าว สามารถดึงออกได้ง่าย โดยทั่วไปมักจะพบเจอการทำลายได้ในช่วงของฤดูนาปรัง มากกว่าช่วงฤดูนาปี เกษตรกรสามารถสังเกตลักษณะของหนอนกอข้าวในช่วงตัวเต็มวัยซึ่งเป็นผีเสื้อกลางคืนได้ง่ายจากส่วนตรงกลางของปีก จะมีจุดสีดำข้างละจุด ส่วนท้องตรงปลายมีขนเป็นพู่สีน้ำตาลปกคลุมอยู่ทั่ว เมื่อเข้าสู่ช่วงอายุของหนอนแล้ว ลำตัวจะยาวเพียงแค่ 2 มิลลิเมตร มีสีเหลืองอ่อน ไม่มีขา ซึ่งหนอนกอข้าวมักถูกพบว่าทำความเสียหายแก่ข้าวในทุกสายพันธุ์ ทั่วทั้งประเทศ ดังนั้นเพื่อป้องกันการเกิดความเสียหายจากการแพร่พันธุ์และทำลาย บทความนี้จึงนำเสนอเกี่ยวกับลักษณะของหนอนกอข้าว รวมไปถึงวิธีการป้องกันและจำกัดอย่างถูกต้อง
หนอนกอข้าว คืออะไร? การสำรวจพื้นที่ที่มีการปลูกข้าว มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ต้องประสบปัญหากับการแพร่พันธุ์และการทำลายต้นข้าว จากหนอนกอข้าวจำนวนมาก หนอนกอข้าว หรืออีกชื่อคือ ตัวชีปะขาว เป็นศัตรูพืชที่สามารถสร้างความเสียหายให้แก่ข้าวตั้งแต่ระยะต้นกล้า ไปจนถึงระยะเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งการระบาดจะสามารถพบได้มากที่สุดในฤดูแล้ง เมื่อเทียบกับฤดูฝน ซึ่งในเบื้องต้นเกษตรกรและชาวนาจะพบผีเสื้อเกาะอยู่ที่ปลายของใบข้าว ความรุนแรงของการระบาดนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยสภาพแวดล้อมของพื้นที่ปลูก ไม่ว่าจะเป็นดิน ฟ้า อากาศ รวมไปถึงช่วงเวลาของการปลูกข้าว สำหรับประเทศไทยนั้น พบหนอนกอข้าว 4 ชนิดด้วยกัน ได้แก่
หนอนกอสีครีม (Yellow stem borer)
หนอนกอสีครีม ลำตัวของหนอนจะมีสีขาวหรือสีครีม ส่วนหัวจะมีสีน้ำตาลแกมเหลือง ลำตัวยาว ส่วนหัวจะเรียวแหลม เมื่อเข้าสู้ตัวเต็มวัยจะกลายเป็นผีเสื้อกลางคืน ตัวผู้นั้นปีกคู่หน้าจะมีสีน้ำตาลคล้ำ กลางปีกมีจุดสีดำข้างละหนึ่งจุด ขอบของปีกมีจุดสีดำเล็ก ๆ เรียงเป็นแถวระหว่างปีก ปีกคู่หลังมีสีน้ำตาลอ่อน ส่วนตัวเมียปีกคู่หน้าจะมีสีเหลืองคล้ายกับสีของฟางข้าว ตรงกลางปีกมีจุดสีดำข้างละหนึ่งจุดขนาดใหญ่กว่าจุดสีดำบนปีกของตัวผู้ สำหรับการวางไข่นั้นตัวเมียจะวางไข่ตามปลายใบข้าว ซึ่งลักษณะของไข่ที่วางนั้นจะเป็นกลุ่ม มีขนสีน้ำตาลปกคลุม กลุ่มไข่อาจมีรูปร่างได้ทั้งทรงกลมและทรงรียาว แล้วฟักออกมาเข้าสู่ระยะหนอน ระยะของหนอนนั้นจะอยู่ที่ 35-45 วัน
หนอนกอแถบลาย (striped stem borer)
หนอนกอแถบลาย ที่ลำตัวของหนอนจะมีแถบสีน้ำตาลห้าแถบพาดตามแนวยาวของลำตัวนอน ส่วนหัวและปล้องแรกของหนอนจะมีสีน้ำตาลอ่อนกว่าส่วนอื่น สำหรับตัวเต็มวัยของหนอนกอแถบลายนั้นเป็นผีเสื้อกลางคืนเช่นเดียวกัน ปีกคู่หน้าสีน้ำตาลคล้ายกับสีของรำข้าว ตามปีกจะมีลักษณะคล้ายกับฝุ่นสีดำเกาะอยู่ประปรายของปีก สำหรับปีกคู่หลังนั้นจะมีสีน้ำตาลอ่อน เมื่อตัวเมียทำการวางไข่บริเวณโคนใบข้าว ไข่มีลักษณะเป็นเกล็ดวางซ้อนกันหลายชั้นอยู่เป็นกลุ่มๆผิวของไข่นั้นมีสีขาวขุ่น ไม่มีขนปกคลุม เมื่อฟักออกมาแล้วเข้าสู่ระยะหนอน ระยะของหนอนนั้นจะอยู่ที่ 30-40 วัน สำหรับหนอนกอแถบลายนั้นพบได้แค่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเท่านั้น
หนอนกอแถบลายสีม่วง (dark-headed stem borer)
ลักษณะของหนอนชนิดนี้ จะมีแถบสีม่วงห้าแถบพาบตามแนวยาวของลำตัวหนอน ส่วนหัวจะมีสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ลักษณะตัวเต็มวัยของหนอนกอแถบลายสีม่วงเป็นผีเสื้อกลางคืนมีความคล้ายกับตัวเต็มวัยของหนอนกอแถบลาย แต่ต่างกันตรงที่ลวลดลายที่อยู่ตรงขอบปีกของหนอนกอแถบลายสีม่วงจะมีสีเหมือนกับสีสนิมเหล็ก ระยะหนอนจะอยู่ที่ 35-40 วัน สามารถพบการแพร่ระบาดได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
หนอนกอสีชมพู (pink stem borer)
หนอนกอสีชมพู ในระยะแรกจะมีสีเหลืองอ่อนหรือสีครีม แต่เมื่อเริ่มโตขึ้นลำตัวจะค่อยๆเปลี่ยนสีกลายเป็นสีชมพูม่วง สำหรับหนอนกอสีชมพูนั้นมีขนาดโตที่สุด หากเทียบกับบรรดาหนอนกอประเภทอื่น ๆ ลักษณะของตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน ลำตัวอ้วนสั้นกว่าตัวเต็มวัยประเภทอื่น ๆ ส่วนหัวจนไปถึงลำตัวมีขนขึ้นปกคลุม ปีกคู่หน้ามีสีน้ำตาลแกมแดง ปีกคู่หลังมีสีขาว ตัวเมียมักจะวางไข่ตรงกาบใบและลำต้น ลักษณะของไข่ที่วางนั้นจะเรียงเป็นแถว ไข่มีรูปทรงกลมเปลือกมีสีขาวอมครีม แล้วก็เข้าสู่ระยะหนอน ซึ่งระยะหนอนนั้นจะอยู่ที่ 35-40 วัน โดยทั่วไปมักพบในฤดูนาปรังมากกว่านาปี
ลักษณะการทำลาย
สำนักงานเกษตรจังหวัดตราดได้กล่าวว่า ถึงแม้ว่าหนอนกอข้าวนั้นจะมีหลากหลายชนิด แต่ทว่าลักษณะของการทำลายนั้นกลับเหมือนกัน การทำลายเริ่มทำลายนั้นจะเริ่มต้นเมื่อข้าวที่ปลูกมีอายุอยู่ที่ประมาณ 40 วัน ไปจนถึงระยะที่ข้าวแตกกอออกมา โดยเมื่อเริ่มฟักไข่แล้วอยู่ในระยะของหนอนนั้น จะเริ่มเข้าไปทำลายกาบใบก่อน ซึ่งส่งผลให้กาบใบนั้นมีสีเหลืองหรือสีน้ำตาลคล้ำ เกษตรกรและชาวนาสามารถสังเกตเห็นได้ว่าจะเป็นอาการช้ำๆ เมื่อลองฉีกกาบใบออกมาดู จะพบกับตัวหนอนที่กำลังกัดกินอยู่ภายในกาบ เมื่อหนอนกอข้าวเริ่มโตขึ้นแล้วจะเริ่มเข้าไปกัดกินส่วนลำต้นของต้นข้าว ส่งผลให้ใบข้าวนั้นเริ่มเหี่ยว ในระยะแรกที่ใบและยอดถูกทำลายนั้นจะมีสีเหลืองอ่อน ต่อมาใบและยอดที่ถูกทำลายนั้นค่อยๆเหี่ยวลงในที่สุด หรือที่เรียกว่าอาการ ยอดเหี่ยว หรือ ไส้เน่า (deadheart) แต่หากว่าเริ่มมีการเข้าไปทำลายข้าวในระยะข้าวตั้งท้อง หรือช่วงเวลาที่หลังจากข้าวออกรวงแล้ว จะส่งผลให้เมล็ดข้าวลีบทั้งรวง รวมไปถึงรวงข้าวมีสีขาว ซึ่งอาการนี้สามารถเรียกได้ว่าอาการ ข้าวหัวหงอก (whitehead) หรือทางภาคอีสานจะเรียกว่า ข้าวตายพราย
การแพร่ระบาด
โดยทั่วไปนั้นเกษตรกรจะพบการทำลายของหนอนกอข้าวในช่วงฤดูนาปรัง ซึ่งนั่นก็คือช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคมและ ตุลาคม – ธันวาคม ได้มากกว่าช่วงฤดูนาปี ซึ่งก็คือช่วงเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม ซึ่งช่วงเวลาดังกลาวนั้นจะเป็นช่วงที่ผีเสื้อของหนอนกอข้าวเริ่มทำการเคลื่อนย้ายเข้ามาสู่บริเวณนาที่ปลูกข้าว เมื่อข้าวอายุระหว่าง 30-50 วัน ซึ่งหนอนกอข้าวนั้นสามารถแพร่ระบาดได้ทุกสภาพแวดล้อม แต่ทว่าจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยของสภาพแวดล้อมบริเวณพื้นที่ที่ทำการปลูกข้าว แต่ทว่าจากสถิติได้ระบุไว้ว่าการแพร่ระบาดนั้นจะมีมากในฤดูแล้ง เมื่อเปรียบเทียบกับฤดูฝนแล้ว อัตราการแพร่ระบาดในช่วงฤดูแล้วสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์
.
การป้องกันกำจัด
จากที่กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น สามารถสรุปได้ว่าหนอนกอข้าว คือศัตรูพืชที่สามารถสร้างความเสียหายแก่พืชที่ปลูกได้อย่างมาก ดังนั้นหากไม่มีการป้องกันหรือวิธีกำจัดหนอนกอข้าวที่ถูกวิธีอาจจะก่อให้เกิดปัญหาและความเสียหายตามมาในมูลค่าที่สูง
สำหรับวิธีการป้องกันไม่ให้หนอนกอข้าวนั้นเข้ามาทำลายข้าวหรือพืชที่ปลูกได้นั้น มีวิธีดังนี้
- เมื่อทำการเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ทั้งหมดแล้วนั้น ให้เกษตรกรทำการไขน้ำเข้านาและไถดินเพื่อทำลาหนอนและดักแด้ของหนอนกอข้าว ที่อาจจะอาศัยอยู่ตามพื้นดิน
- ให้เกษตรกรทำการปลูกข้าวพันธุ์เบา เนื่องจากข้าวพันธุ์เบานั้นสามารถช่วยลดจำนวนการทำลายข้าวได้ดี
- เกษตรกรไม่ควรใช้สารเคมีกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ฆ่าแมลงชนิดเม็ดในนาข้าว เนื่องจากจะส่งผลให้ไปทำลายแตนเบียนไข่และแตนเบียนหนอนของหนอนกอข้าวได้ เนื่องจากทั้งสองนั้นเป็นแมลงที่สามารถทำลายและควบคุมประชากรของหนอนกอข้าวได้
- ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในปริมาณที่สูงมากเกินไป เพราะเนื่องจากปุ๋ยไนโตรเจนนั้นมีประสิทธิภาพที่ช่วยเร่งให้ใบข้าวนั้นงอกงามออกมา ซึ่งจะทำให้หนอนกอข้าวนั้นเข้าไปทำการวางไข่ได้ และยากต่อการพบเจอมากยิ่งขึ้น
- เกษตรกรสามารถทำลายที่ต้นเหตุอย่างผีเสื้อกลางคืนที่เป็นตัวเต็มวัยของหนอนกอข้าวได้ โดยการส่องไฟเพื่อล่อตัวเต็มวัยออกมาแล้วทำการกำจัดทิ้ง
- เมื่อหลังจากการเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ เกษตรกรควรที่จะไถตอซังหลังจากการเก็บเกี่ยว หรือทำการตาฟางข้าวให้แห้งหลังจากทำการนวดข้าว
- ทำการกำจัดพืชอาศัยต่างๆ ที่ขึ้นอยู่รอบๆบริเวณที่ปลูก เช่น หญ้านกสีชมพู หญ้าข้าวนก หญ้าไช หญ้าปล้อง และข้าวป่า
- หากพื้นที่ที่ทำการปลูกนั้นมีการระบาดของหนอนกอข้าวอย่างเป็นประจำ เกษตรกรควรทำการปลูกข้าวสองสายพันธุ์ขึ้นไป โดยทำการปลูกสลับสายพันธุ์กัน ซึ่งวิธีนี้สามารถช่วยลดความรุนแรงของการระบาดได้
แหล่งข้อมูล : กรมการข้าว