ทำเกษตรแบบยั่งยืน! อุบลโมเดล ต้นแบบการลดต้นทุน ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
การเพาะปลูกมันสำปะหลังในจังหวัดอุบลราชธานี เป็นสินค้าเกษตรที่นิยมปลูกเพิ่มมากขึ้น อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีตลาดที่รับซื้อแน่นอน เป็นพืชพลังงานและพืชอาหารที่สำคัญสร้างเศรษฐกิจให้จังหวัดและประเทศ วิถีในการเพาะปลูกมันสำปะหลังมีความหลากหลายแตกต่างกันไปตามองค์ประกอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สภาพพื้นที่ สภาพภูมิอากาศ แหล่งทรัพยากร องค์ความรู้ของเกษตรกร การเลือกใช้ท่อนพันธุ์ การจัดการแปลง
การใส่ปุ๋ยให้กับมันสำปะหลังที่ถูกต้องเหมาะสม จะสามารถช่วยลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตได้นั้น มีวิธีการที่เรียกว่า “การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน” ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่เป็นเรื่องที่มีกระบวนการในการจัดการ เกษตรกรอาจมองว่าเป็นเรื่องที่เข้าถึงยาก โดย “โครงการอุบลโมเดล” เป็นช่องทางในการเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกร หน่วยงานราชการ ทุกหน่วยงานมาทำงานร่วมกันเพื่อเกษตรกรกลุ่มเดียวกัน
องค์ประกอบในการสร้างอาหารเริ่มต้นที่ดินดี มีธาตุอาหารเพียงพอ ดังนั้นเราจึงแนะนำให้เกษตรกรต้องเก็บดินมาตรวจ เพื่อตรวจหาธาตุอาหารพื้นฐานในดิน N P K ซึ่งกรมวิชาการเกษตรเรามีหน่วยงานในการตรวจสอบบริการให้ เมื่อทราบผลเราจะเห็นว่าไม่จำเป็นต้องซื้อหมดให้กลายเป็นหว่านปุ๋ยหว่านเงิน ซึ่งสามารถลดต้นทุนให้เกษตรกรได้จริงๆ โดยเฉลี่ยต่อไร่ก็ได้มากกว่า 1,000 บาท
นายสอน สำราญ ชาวอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี หนึ่งในเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการอุบลโมเดล ก่อนหน้านี้ นายสอนทำงานอยู่กรุงเทพ หลังจากทราบว่ามีโรงงานใกล้บ้าน และมีที่ดินเป็นของตนเองจึงตัดสินใจกลับมาปลูกมันสำปะหลังที่บ้านเกิดประมาณ 20 ไร่ โดยทดลองผิดทดลองถูก พันธุ์อะไรปลูกดียังไม่รู้จักซื้อตามเขาว่าดี จนหลายหน่วยมาจัดประชุมที่ศาลากลางบ้านถึงได้รู้จักโครงการเลยลงชื่อว่าสนใจ
นายสอน สำราญ เข้าร่วมโครงการอุบลโมเดลตั้งแต่ปี 2558 ได้นำเอาคำแนะนำและองค์ความรู้ต่างๆ ที่ได้รับจากโครงการฯ ไปประยุกต์ใช้อย่างมุ่งมั่นต่อเนื่อง พัฒนาการปลูกและการดูแลแปลงจนประสบผลสำเร็จ ได้รับรางวัลชนะเลิศเกษตรกรต้นแบบ..ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ประจำปี 2559 ในงานประชารัฐ พัฒนาชาวไร่มันฯ ขยันแบบอุบลโมเดล เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559 ปีที่ผ่านมา
อุบลโมเดล เริ่มต้นในปี 2557 โดยการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในรูปแบบประชารัฐระหว่าง กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล ร่วมกับสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4, ศูนย์วิจัยพืชไร่ , สำนักงานการเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี, สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 4 และสถานีพัฒนาที่ดินอุบลราชธานี เป็นแนวทางโครงการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกมันสำปะหลัง เพื่อให้เกษตรกรมีองค์ความรู้ที่ถูกต้อง มีกระบวนการในการจัดพื้นที่การเกษตรของตนเองอย่างยั่งยืน
ข้อมูลข่าว : https://www.khaosod.co.th/uncategorized/news_191425
ท่านสามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร สาระความรู้และแลกเปลี่ยนเคล็ดลับ เกร็ดความรู้ทางการเกษตรได้ที่ www.kasetnews.com “คลังความรู้คู่เกษตรกร”
#kasetnews #kasetnewss
hop #เกษตรนิวส์ #ข่าวเกษตร #สินค้าเกษตร#ทำเกษตร #เกษตร #amazingthailand #อุบลโมเดล