อาชีพพระราชทาน! เกษตรกรชาวปกากะญอ ปลูกมะเขือเทศส่งโครงการหลวง

อาชีพพระราชทาน! เกษตรกรชาวปกากะญอ ปลูกมะเขือเทศส่งโครงการหลวง รับเดือนละหนึ่งหมื่นบาท-ใช้ชีวิตยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

คุณบุญทา พฤกษาฉิมพลี หมอดินดอยอาสาของชุมชนชาวกะเหรี่ยงหรือชาวปกากะญอ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า หมอดินโครงการหลวง วัย 53 ปี เล่าให้ฟังว่า “ยุคแรกๆ สมัยก่อนบรรพบุรุษ บนดอยที่นี่ เขาทำเกษตรแบบไร่เลื่อนลอย ทำนา ทำไร่ เกษตรกรทำการเกษตรไม่ครบถ้วน ไม่มีความรู้ ไร้ความเข้าใจ พอในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมที่บ้านผาหมอน ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ แห่งนี้ ในตอนนั้นถนนหนทางยังทุรกันดารมาก ลำบากทั้งคนที่อยู่และคนที่มา

แต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ก็ยังเสด็จพระราชดำเนินมาที่หมู่บ้านแห่งนี้ถึง 6 ครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้งที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมา ก็มักจะถือแผนที่ติดตัวเสมอ ชาวบ้านอย่างเราๆ ต่างก็พูดเล่นกันว่า ท่านถือแผนที่มาก็เพราะกลัวหลงทาง แต่พอมาดูแผนที่จริงๆ ทุกคนกลับเห็นว่า แผนที่ในมือนั้นเป็นแผนที่ที่เอาไว้ใช้ในการเก็บข้อมูลต่างๆ และการเสด็จพระราชดำเนินมาแต่ละครั้ง ท่านจะเก็บข้อมูลไป และเอาไปวิเคราะห์ โดยเฉพาะดินที่ถือเป็นหัวใจสำคัญในการเกษตร

ดินบนดอยแห่งนี้บางพื้นที่ก็เป็นกรด บางพื้นที่ก็เป็นด่าง ทำให้ต้องมีการปรับค่าดินให้เหมาะสมกับการปลูกพืชในแต่ละชนิด แต่ข้อดีของดินแถบนี้คือสามารถปรับดินเพียงแค่ 1 ครั้งก็สามารถปลูกพืชได้แล้ว ถือเป็นข้อโชคดีของที่นี่ โดยพืชที่นี่สามารถปลูกได้หลากหลายชนิดมากๆ ทั้งกาแฟ ทำนา มะเขือเทศ แตงกวาญี่ปุ่น ดอกไม้นานาชนิด อาทิ ดอกกุหลาบฮอลแลนด์ ดอกลิลลี่อย่าง พันธุ์แฮปปี้เดย์ ไททานิค คูลวอเตอร์ เป็นต้น โดยผลผลิตต่างๆ ที่เกษตรกรในหมู่บ้านผาหมอนทำได้ ส่งขายให้กับโครงการหลวง

ปัจจุบัน คุณบุญทา บอกว่า ตนได้หันมาปลูกมะเขือเทศ 2 พันธุ์คือ เชอร์รี่ และโทมัส เนื่องจากต้องเลิกปลูกกุหลาบบนพื้นที่ของตนเองชั่วคราว ส่วนพื้นที่ของเกษตรกรคนอื่นๆ เขาก็ปลูกกันไป หมุนเวียนไปในแต่ละพื้นที่ โดยผลผลิตมะเขือเทศในพื้นที่ของตนที่ทำได้ ก็จัดส่งในกับโครงการหลวง รายได้รวมเฉลี่ยเดือนละ 10,000 บาท แม้ไม่ใช่รายได้ที่มากมายนัก แต่ถือว่าอยู่ได้ดี มีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างสบาย ไม่เดือดร้อน การใช้เงินและการดำเนินชีวิตใช้การยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ส่วนการเก็บเกี่ยวมะเขือเทศนั้น ทำการเก็บเกี่ยวสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ผ่านการตรวจ GAP ให้ได้มาตรฐาน โดยการปลูกสามารถใช้สารเคมีได้ แต่ก็ต้องใช้ไม่เยอะ ต้องทำให้ได้มาตรฐานและด้านการดูแลก็ไม่ยุ่งยาก คอยดูแลเรื่องน้ำ เรื่องปุ๋ย และการดูแลเรื่องโรคใหม่ๆ เท่านั้น โดยการปลูกพืชบนที่สูงแบบนี้ เกษตรกรต้องรู้จักการปลูกพืชแบบหมุนเวียน การปรับดินก็ทำได้ง่ายๆ คือการฝังกลบด้วยพืชต่างๆ ที่ปลูกในพื้นที่เพื่อในเกิดการย่อยสลายหรือการใส่ปุ๋ยหมัก พักดินทิ้งไว้สัก 20 วัน ก็สามารถปลูกพืชอื่นได้แล้ว

ข้อมูลข่าว : http://www.matichon.co.th/news/347319
ท่านสามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร สาระความรู้และแลกเปลี่ยนเคล็ดลับ เกร็ดความรู้ทางการเกษตรได้ที่ www.kasetnews.com “คลังความรู้คู่เกษตรกร”
#kasetnews #kasetnewsshop #เกษตรนิวส์ #ข่าวเกษตร #สินค้าเกษตร#ทำเกษตร #เกษตร #amazingthailand #มะเขือเทศ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *